22 พฤษภาคม 2566 คือวันครบรอบเก้าปีการรั
ฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น หลังยึดอำนาจพล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารที่มี "อำนาจพิเศษ" ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา ระหว่างนั้นพล.อ.ประยุทธ์ก็แต่งตั้งกลุ่มบุคคลขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดฉากทำประชามติที่ปิดกั้น ผลักดันมาตรา 272 ที่กำหนดให้ 250 ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมตรี
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. จะถูกประกาศใช้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมลงจากอำนาจ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ประชาชนในนามกลุ่มคนอยากเลือกออกมาชุมนุมเพื่อทวงถามถึงคำสัญญาเรื่องการจัดเลือกตั้งโดยการชุมนุมครั้งใหญ่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 วันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร ซึ่งจบลงโดยที่ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดี ล่วงมาถึงปี 2562 มีการจัดการเลือกตั้ง แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแต่สุดท้ายผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับเป็นพล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ โดยมี "ตัวช่วย" สำคัญคือสมาชิกวุฒิสภาและส.ส.จากพรรคการเมืองขนาด "หนึ่งเสียง" ที่ได้เข้าสภาเพราะสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ
สถานการณ์การเมืองที่เริ่มเปิดมากขึ้นหลังการเลือกตั้งดำรงอยู่เพียงปีเศษก็กลับมาปิดอีกครั้งเพราะในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯทั่วประเทศโดยอ้างเหตุเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลและตัวพล.อ.ประยุทธ์ยังทำให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งภายหลังเรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ก็นำเสนอ 3 ข้อเรียกร้องหลัก คือ ให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เริ่มตอบโต้ผู้ชุมนุมอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
การเมืองบนท้องถนนที่คุกรุ่นตั้งแต่ปี 2563 จนถึง 2564 เริ่มลดดีกรีความเข้มข้นลงในปี 2565 ซึ่งอาจมีปัจจัยทั้งตัวนักกิจกรรมเองที่มีกำหนดต้องเข้ารับการพิจารณาคดีโดยศาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางคนก็ติดเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวด เช่น ถูกห้ามออกจากเคหะสถานหรือถูกติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองในภาพใหญ่ก็เดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง
22 พฤษภาคม 2565 วันครบรอบ 8 ปีการรัฐประหารมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งผลที่ออกมาชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งลงสมัครในนามอิสระชนะการเลือกตั้งอย่าง "ถล่มทลาย" ขณะที่ผู้สมัครส.ก.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลก็ชนะการเลือกตั้งรวมกันถึง 33 เขต จาก 50 เขต ก่อนที่ในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นห้วงเวลาของการเลือกตั้งใหญ่ ผลการเลือกตั้งกลับกลายเป็นพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย สองพรรคร่วมฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่หนึ่งและสองตามลำดับ
22 พฤษภาคม 2557 รัฐประหารเริ่มต้น "ระบอบคสช."
การผ่านร่างพ.ร.บ.นิ
รโทษกรรมสามวาระรวดโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในช่วงปลายปี 2556 ก่อให้เกิดการชุมนุมคัดค้าน แม้ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะประกาศว่าหากส.ว.ตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวทางรัฐบาลก็จะปล่อยไปให้ตกไปไม่นำกลับมาพิจารณาซ้ำ แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไปโดยเปลี่ยนจากการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ทว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังดำเนินต่อไป ในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มี ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณลาออกมานำการเคลื่อนไหวบนถนนอย่างเต็มตัว พร้อมเสนอข้อเรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 กลุ่มกปปส.ยกระดับการเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อ Shut Down Bangkok นำผู้ชุมนุมปิดสถานที่สำคัญๆในกรุงเทพ เช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และในการจัดเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส.บางส่วนได้ไปปิดคูหาเลือกตั้งบางคูหาจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้พร้อมกันทั่วประเทศ ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในเวลาต่อมา