การเลือกตั้งปี 2566 พึ่งผ่านพ้นไปไม่นานต่อเนื่องด้วยการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยพรรคการเมืองที่ถือธงนำฝั่งประชาธิปไตย แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ประชาชนต่างก็เฝ้าจับตาว่าหลากหลายนโยบายที่หาเสียงกันไว้จะมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงอย่างการ “นิรโทษกรรมคดีความทางการเมือง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เพราะตลอดช่วงระยะเวลาการผลัดเปลี่ยนของการเมืองไทยในแต่ละยุค ยังคงมีประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อีกทั้ง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดออกมาขยับตัวในประเด็นดังกล่าว ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้ถกเถียงกันอยู่เสมอ ในประเด็นว่าการนิรโทษกรรมนั้นครอบคลุมใครบ้าง และมากแค่ไหนถึงจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง
ในช่วงเทศกาลหาเสียง ตามเวทีดีเบตหรือวงเสวนาหรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์ หลายพรรคการเมืองที่ได้เข้าสภาจากการเลือกตั้ง 2566 ก็เคยแสดงจุดยืนในประเด็นนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองไว้บ้างแม้อาจยังไม่มีนโยบายชัดเจน ชวนย้อนความจำกันว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง
พรรคแกนนำรัฐบาลใหม่ พร้อมผลักดันประเด็น แต่ยังคงต้องมีการพูดคุยให้ถี่ถ้วน
บรรยากาศพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2566 ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ได้ทำ
บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding – MOU) ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางบริหารประเทศ แต่ประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกลไม่ปรากฎอยู่ใน MOU ดังกล่าว
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ชี้แจงเพียงว่า มีความพยายามที่จะพูดคุยกันในประเด็นการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดี ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นวาระเฉพาะแต่ละพรรค โดยพรรคก้าวไกลยืนยันจะดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เป็นวาระเฉพาะของก้าวไกล
พรรคก้าวไกล
ผลการเลือกตั้งปี 2566 ส่งให้พรรคก้าวไกลซึ่งได้ ส.ส. 151 คน เป็นพรรคอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลเคยแถลงชุดนโยบายชุดแรกไว้ตั้งแต่ปี 2565 คือชุด “การเมืองก้าวหน้า” ยกประเด็นนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองเป็นหนึ่งในวาระสำคัญและเป็น
ข้อเสนอใหญ่ที่สุดของก้าวไกล อีกทั้ง ยังเป็นหนึ่งประเด็นที่มี
ร่างกฎหมายพร้อมยื่นเมื่อเปิดสภา และใน
เฟซบุ๊กของเบญจา แสงจันทร์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อและว่าที่ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการนิรโทษกรรม ว่าจะคืนความยุติธรรมให้คดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549
- นิรโทษกรรมประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการบิดเบือนกฎหมายของผู้มีอำนาจ นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
- การนิรโทษกรรมจะไม่มีผลรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจภายใต้บังคับบัญชาของคณะผู้ก่อการ
- เกณฑ์การพิจารณาผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ต้องกระทำโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
- ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์จะได้นิรโทษกรรม มีสิทธิที่จะเลือกไม่รับการนิรโทษกรรมได้
- คณะกรรมการสามารถพิจารณาขยายการคืนความยุติธรรมไปก่อนหน้าปี 2557 และกำหนดเกณฑ์สำหรับการกลั่นกรองคดีดังกล่าวได้ เพื่อสะสางความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมก่อนหน้าปี 2557 และ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้โดยไม่ละเลยการคืนความยุติธรรมในอดีต
นอกจากนี้ ว่าที่ส.ส.ที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรในไม่ช้านี้ ก็เคยได้ออกมาแสดงจุดยืนพรรคไว้ไปในทางเดียวกัน
เบญจา แสงจันทร์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อและว่าที่ส.ส.ของพรรคก้าวไกล
ระบุว่า การออกจากความขัดแย้งนั้น จะทำไม่ได้เลยถ้าไม่นิรโทษกรรมทางการเมืองและคืนความยุติธรรมให้ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการรัฐประหารหลังปี 2557 มติของพรรคเสนอให้นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมและบิดผันกระบวนการใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งการพูดถึงการนิรโทษกรรมเป็นประเด็นอ่อนไหว ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง พรรคก้าวไกลมีความเห็นว่ากระบวนการนี้ควรตัดเจ้าหน้าที่รัฐออกไปก่อน ส่วนแกนนำผู้ชุมนุม ให้ใช้สิทธิเข้ากระบวนการคัดกรองโดยกรรมการ อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมคือปลายทาง พร้อมเสริมว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็สมควรได้รับการพูดถึงเช่นกัน
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลและว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ
รับข้อเสนอเรื่องการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองที่ถูกเสนอโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องนิรโทษกรรมให้ทุกเฉดสีการเมือง แต่ยังไม่รวมข้อหาคดีทุจริต เพื่อป้องกันแรงเสียดทานทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นและคดีที่เป็นการกระทำต่อชีวิตและร่างกายซึ่งตนคิดว่าควรให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไป และต้องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีขึ้นมาพิจารณาว่าจะให้นิรโทษกรรมคดีใดบ้างแล้วทยอยประกาศล้างความผิดไป โดยชัยธวัชคิดว่า กระบวนการนิรโทษกรรมน่าจะสำเร็จได้ภายในสองปี และถ้ามีผู้ที่ถูกดำเนินคดีคนใดไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ เช่น กรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีคดีติดอยู่ ก็สามารถขอใช้สิทธิไม่รับการนิรโทษกรรมได้ เพื่อไม่ให้มีการกล่าวหาโจมตีกันว่าทำเพื่อมาช่วยพวกพ้อง พร้อมย้ำว่าก้าวไกลพร้อมยื่นร่างกฎหมายเข้าสภาเมื่อสภาเปิดแม้ว่าจะได้รัฐบาลหรือไม่ก็ตาม อีกทั้ง ยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่พร้อมจะผลักดันไปด้วย
รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกลและว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้
สัมภาษณ์ในรายการ Vote ปะล่ะ โดยสำนักข่าวทูเดย์ ในประเด็นถึงเรื่องว่ามีนโยบายนิรโทษกรรมทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งสรุปจากที่รังสิมันต์กล่าว ได้ใจความว่า นิรโทษกรรมแน่นอน พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นกุญแจในการทำให้ประเทศเดินต่อ แก้กฎหมายอย่างเดียวบางทีต้องใช้เวลาและต้องพิสูจน์ว่าผิดถูกอย่างไร แต่การนิรโทษกรรมมันเหมือนการเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งการเริ่มต้นกันใหม่นี้พรรคก้าวไกลก็มีหลักการอยู่ประมาณสองสามข้อ
ข้อแรกเราให้ความสำคัญเริ่มต้นจากช่วงเวลาเริ่มนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา เพราะเรามองว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร เป็นช่วงเวลาที่มีการใช้กฎหมายทำนิติสงครามกับพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตามมาสู่ข้อที่สองว่า เราตระหนักว่ามันอาจจะมีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลทางกฎหมายบางอย่างตั้งแต่การรัฐประหาร 49 ซึ่งอาจเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงพี่น้องประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมปี 53 52 อะไรก็แล้วแต่หรือเป็นช่วงเวลาที่มันไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวแต่ประชาชนดังกล่าวก็อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการวิพากย์วิจารณ์ต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องหรือมีแรงจูงใจทางการเมือง ช่วงเวลาแบบนี้พรรคก้าวไกลมองว่าขยายการนิรโทษกรรมไปได้
ข้อที่สามคือ จุดสำคัญในการพิจารณาว่าคดีไหนนิรโทษ คดีไหนไม่นิรโทษ
- หนึ่งต้องดูแรงจูงใจทางการเมือง
- สองต้องไม่เป็นคดีที่ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เป็นคดีพวกถึงแก่ชีวิต เช่น คุณไปชุมนุมทางการเมืองแต่คุณไปยิงเขาจนตายแบบนี้อาจไม่ได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งจะมีคณะกรรมการเข้ามากลั่นกรอง แต่ว่าการที่จะให้คณะกรรมการกลั่นกรองต้องมาพร้อมกับความยินยอมของคนที่ได้รับการนิรโทษด้วย
ทำไมเราต้องดีไซน์กฎหมายแบบนี้ขึ้นมา รังสิมันต์เล่าว่า ตนเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในช่วงปี 57 เป็นต้นมา ถ้าเกิดไปเขียนกฎหมายว่านิรโทษแบบเหมารวมเลย เดี๋ยวก็โดนอีกว่าสร้างกฎหมายเพื่อนิรโทษตัวเอง การดีไซน์แบบนี้มันจะอนุญาตให้คนที่ไม่อยากเข้าสู่กระบวนการการนิรโทษกรรมสามารถพิสูจน์ตัวเองในศาลได้หรือในกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ว่ากับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่เขาสมควรได้รับการนิรโทษกรรม เขาก็สมควรได้รับเพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ดู
คลิป นาทีที่ 11.12 - 14.18
พรรคเพื่อไทย
หนึ่งในพรรคแกนหลักสำคัญร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และเป็นพรรคที่ถูกตั้งแง่จากทุกฝ่ายในประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมทางการเมืองเพราะเหตุที่
ประสบการณ์ในอดีตนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ก็มีตัวแทนพรรคที่เคยแสดงจุดยืนถึงประเด็นดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของประชาชนไว้เช่นเดียวกัน
ขัตติยา สวัสดิผล ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
เห็นด้วยและพร้อมผลักดันข้อเสนอเรื่องการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองที่ถูกเสนอโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยซึ่งมองว่าที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกับประชาชนที่คัดค้านคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหารมีจำนวนมาก และเมื่อคสช. สืบทอดอำนาจตัวเองเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ยังดำเนินคดีกับกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องในช่วงที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และพร้อมสนับสนุนพรรคก้าวไกลหากผลักดันในเรื่องนี้ แต่ก็มีข้อกังวลเพราะเห็นว่าเรื่องนี้จะทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย อีกทั้ง ขัตติยา เห็นว่าการผลักดันการนิรโทษกรรมนี้ยังต้องมีกลไกนอกสภาด้วยคือการเปิดรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้นโดยทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะมีประวัติศาสตร์มาแล้วว่าถ้าไม่รับฟังเสียงจากทุกฝ่ายก็ทำให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งต่อมา ดังนั้นถ้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าไปในสภาเพื่อไทยก็จะไม่เป็นศัตรูและเชื่อจะสามารถนำการมีส่วนร่วมของประชาชนมาผลักดันกฎหมายนี้ได้
นอกจากนี้ ขัตติยา ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเห็นควรให้มีการนิรโทษกรรมในห้ากลุ่มคดีคือ
- คดีการเมือง
- คดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
- คดีความมั่นคง
- คดีที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด
- คดีที่รัฐสร้างขึ้นมาเองโดยการใช้อำนาจจากการรัฐประหาร
ทั้งนี้ ประเด็นแรกที่ควรจะต้องพิจารณายกเลิกก่อนคือการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับเยาวชน แต่ข้อกังวลอีกเรื่องคือการหาคำนิยามของคดีทางการเมือง จึงเห็นว่าต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตามมาเพราะหากไม่ได้ข้อสรุปที่เห็นด้วยทุกฝ่ายก็จะมีการชุมนุมต่อต้านตามมาแล้วเหตุการณ์ก็จะวนกลับไปเหมือนเดิม แต่ก็ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะยังมีคนในเรือนจำที่เขาอยากออกมา และยังมีคนที่อยากเคลียร์ประวัติตัวเอง ทั้งนี้
ประเด็นว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างกฎหมายเองหรือไม่นั้น ทางเพื่อไทยมีการคุยกันและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะมีการเสนอร่างเองหรือไม่ เพราะเพื่อไทยเองก็มีข้อมูลอยู่และเพื่อไทยน่าจะเป็นพรรคที่รู้ดีที่สุดว่าปัญหาในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคืออะไร
สุทิน คลังแสง อดีตส.ส.จังหวัดมหาสารคามและว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเพื่อไทย ให้
สัมภาษณ์ในรายการ Vote ปะล่ะ โดยสำนักข่าวทูเดย์ ในประเด็นถึงเรื่องว่ามีนโยบายนิรโทษกรรมทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งสรุปจากที่สุทินกล่าว ได้ใจความว่า เรื่องทางการเมืองโดยสากล เรียกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิด เพราะฉะนั้นเมื่อคิดอย่างนี้แล้วสากลมันเป็นอย่างนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องเอามาทบทวนดูว่า ใครซึ่งต้องถูกจับกุมลงโทษด้วยเหตุคิดต่างเห็นต่าง ก็ถึงเวลาที่ต้องนิรโทษกรรมให้กัน เว้นเสียแต่ว่ามันเป็นคดีที่มันไหลเลยไปจนถึงขั้นเป็นอาชญากรรม ดูแล้วไม่เชื่อมโยงกับความคิดทางการเมืองอันนี้ก็ต้องแยกออก
สุทินยังเล่าย้อนไปถึงก่อนหมดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วว่า มีคนคิดจะยื่นเรื่องนิรโทษกรรมแต่เผอิญว่าเวลาน้อย ซึ่งตนคิดว่าสมัยหน้ามีบรรยากาศที่จะทำ แต่ต้องละเอียดอ่อนต้องคุยถึงกรอบให้ชัด ถ้าเพื่อไทยคิดเพื่อไทยทำคนจะระแวง ช่วยคนนั้นเพื่อคนนี้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ไปคิดถึงคนทั้งหมดไม่ต้องคิดว่าเป็นใครหน้าไหน ตนคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องคุยกันแล้วต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าโทษแบบไหนอย่างไร สำหรับขอบเขตกรอบแนวทางพิจารณาเป็นอย่างไร สุทินตอบว่า เคยมีกรอบทำมาตลอดไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งในไทยและสากลโลก คือต้องเป็นความผิดทางการเมืองจริงๆ ไม่ใช่ความผิดทุจริตหรือก่ออาชญากรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตตนคิดว่าไม่ครอบคลุมถึง แต่ต้องดูอีกทีว่าเป็นการใส่ร้ายให้ความกลั่นแกล้งกันหรือไม่
ดู
คลิปนาทีที่ 12.02- 14.19
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ในช่วงการเดินสายหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
ปราศรัยบนเวที ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน เพื่อชาวฝั่งธนฯ’
ยืนยันผลักดันคดีคนเสื้อแดงที่ยังค้างไม่คืบหน้า และใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ประชาชนผู้เสียหายในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปัดตก สามารถฟ้องคดีโดยตรงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ โดยรายละเอียดสำหรับรัฐบาลเพื่อไทย
ประการที่ 1 จะขับเคลื่อนผลักดันให้มีการไต่สวนสาเหตุการตายทุกชีวิตที่ยังคั่งค้างอยู่โดยทันที
ประการที่ 2 ผลักดันด้วยกลไกสภาให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 49 มาตรา 58 ให้มีเนื้อความว่าหากมีคดีความใดยื่น ป.ป.ช. และ ป.ป.ช. ตีตกไม่รับหรือยกคำร้อง ให้ประชาชนซึ่งผู้เสียหายโดยตรงฟ้องตรงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ทั้งหมดนี้พรรคเพื่อไทยและตนจะขอติดตามกระบวนการแก้กฎหมายดังกล่าว และพรรคเพื่อไทยก็จะนำเรื่องนี้ไปใส่ในการแถลงนโยบายของพรรคเพื่อไทยในสภา
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณัฐวุฒิ ได้โพสต์
ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงรายละเอียดพร้อมแนบร่างกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้น โดยระบุว่า เตรียมประสานงานส.ส.ที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้แล้ว 30 รายชื่อ จะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้เสนอร่างโดยครม.ประกบด้วย และขอพลังส.ส.ในสภาเสนอเป็นญัตติด่วน ให้เป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ ในแผนงาน 100 วันแรกของรัฐบาล หากสำเร็จตามนี้ ญาติผู้เสียชีวิต น่าจะเริ่มต้นฟ้องคดี ได้ภายในหกเดือน หลังรัฐบาลเริ่มต้นใช้อำนาจบริหาร
พรรคประชาชาติ
กิตติวัฒน์ อึ้งเจริญ ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ แสดง
มุมมองถึงประเด็นต่อเสรีภาพทางการชุมนุมและนิรโทษกรรมไว้ว่า สิทธิในการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนที่ติดตัวประชาชนมาแต่แรกและอยู่เหนือกฎหมาย การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้นไม่มีความผิด การนิรโทษกรรมก็เป็นไปได้ แต่อาจจะไม่สามารถพูดได้ว่ามีขอบเขตแค่ไหน แต่ว่าเราลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งการชุมนุมก็เป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาเช่นกัน
พรรคไทยสร้างไทย
ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคไทยสร้างไทยและเป็นตัวแทนของพรรค
กล่าวในเวทีดีเบตมติชน ในหัวข้อ เห็นด้วยหรือไม่ว่าการนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง ถ้าเห็นด้วยควรจะเอาแค่ไหน ครอบคลุมไปถึงใครบ้าง
โดยศิธาตอบว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือจะมองนิรโทษกรรมในบริบทแบบไหน ส่วนแรกคือการนิรโทษกรรมต่อประชาชนซึ่งเขาอาจจะไม่ได้เป็นแกนนำหรือเป็นบุคคลสำคัญแต่เข้าไปร่วมในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องของการเมืองที่ทำให้ตัวของเขาทำผิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง และกล่าวต่อว่า ในส่วนของบุคคลสำคัญซึ่งมีผลอย่างยิ่งและทำให้การเมืองไทยติดหล่มแบบทุกวันนี้ ศิธาคิดว่า สิ่งสำคัญคือ การนิรโทษกรรมต่อบุคคลที่คนเห็นว่าเขาผิดหรือไม่ผิด อย่างกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนกลุ่มหนึ่งมองว่าผิดและต้องมารับผิด แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าไม่ผิด เพราะฉะนั้นตนคิดว่าต้องเป็นจุดที่พอดี การที่เราเลือกเอาคนที่เราเกลียดและไปตัดสินอย่างเดียวคนอาจจะไม่ยอมรับ อาจจะต้องเข้ามาพิจารณาในระบอบมาตรฐานสากลที่ทุกคนยอมรับ
ดู
คลิป นาทีที่ 05.45 - 08.44
พรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่ไม่เห็นด้วยหากเป็นกรณีทุจริต
อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ
กล่าวในเวทีดีเบตมติชนในหัวข้อ เห็นด้วยหรือไม่ว่าการนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง ถ้าเห็นด้วยควรจะเอาแค่ไหน ครอบคลุมไปถึงใครบ้าง
โดยอนุทินตอบว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยมาโดยตลอดสำหรับการนิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมกับผู้ที่ทำการทุจริตต่อบ้านเมือง คอร์รัปชันและสร้างความแตกแยกอย่างตั้งใจ ทำลายทรัพย์สินต่างๆ ของบ้านเมือง
อนุทินเน้นว่า การนิรโทษกรรมได้อย่างชัดเจนมากสุดคือเราต้องดูเป็นกรณีๆ ไป กรณีของผู้ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตย เรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ถ้าเขาออกมาแล้วเกิดสถานการณ์พาเขาไปโดยที่เขาไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง คนเหล่านี้สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ในเรื่องทางการเมืองก็เช่นกัน ถ้าเป็นเรื่องของความเห็นต่าง เช่น บางคนไปใช้สิทธิไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นสิทธิของเขาในฐานะที่เป็นตัวแทนประชาชน มีความพยายามหลายครั้ง ที่ทำให้เกิดการลงโทษ ตัดสินสิทธิอะไรต่างๆ ในการตีความของกฎหมาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้ยิ่งเกิดความขัดแย้ง และยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น และทิ้งท้ายย้ำอีกครั้งว่า ส่วนที่เป็นการนิรโทษกรรมความเห็นต่างทางการเมืองต้องมี แต่เรื่องนิรโทษกรรมเรื่องทุจริต การทำให้บ้านเมืองแตกแยกโดยความจงใจ การทำลายทรัพย์สินของบ้านเมือง ทำร้ายประชาชน ทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย
ดู
คลิป นาทีที่ 0.30 - 5.16
พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยอย่างมีเงื่อนไขให้นิรโทษกรรม “ประชาชน” ผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่เห็นด้วยในกรณีผู้มีอำนาจกระทำรวมถึงกรณีทุจริตคอร์รัปชัน
แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ แสดง
มุมมองถึงประเด็นต่อเสรีภาพทางการชุมนุมและนิรโทษกรรมไว้ว่า เสนอการแบ่งกลุ่มผู้ชุมนุมออกเป็นห้ากลุ่ม
- กลุ่มแรกคือผู้ถืออำนาจนำตัวจริง อาจจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง และมีคดีอาญาซึ่งไม่ได้เกิดจากมูลเหตุทางการเมือง เช่น คดีทุจริตคอร์รัปชัน เป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่สามารถนิรโทษกรรมได้
- กลุ่มที่สองอาจเรียกว่าแกนนอน เป็นภาคประชาชน ตัวแทน ที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำการเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้ประสงค์ที่จะไปเป็นนักการเมือง ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม
- กลุ่มที่สามเป็นฝ่ายฮาร์ดคอร์ “เผาเลยพี่น้อง” ทำให้เกิดเหตุขึ้นจริงๆ กลุ่มนี้ถึงจะมีคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ เพราะต่อไปอาจจะมีการกระทำแบบนี้เกิดขึ้นอีก
- กลุ่มที่สี่เป็นฝ่ายนักวิชาการที่อภิปรายและออกความเห็นเป็นแนวร่วม ไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม
- กลุ่มที่ห้าควรได้รับการนิรโทษกรรมแน่นอนคือประชาชน ที่ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดจราจร
วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกทม. พรรคประชาธิปัตย์ ให้
สัมภาษณ์ในรายการ Vote ปะล่ะ โดยสำนักข่าวทูเดย์ ในประเด็นถึงเรื่องว่ามีนโยบายนิรโทษกรรมทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งสรุปจากที่วทันยากล่าวได้ว่า ตอนนี้ในแง่ของท่าทีของพรรคยังไม่มีการพูดถึงถกกันในประเด็นนิรโทษกรรมโดยตรง เลยขอพูดในนามตัวเองซึ่งเชื่อว่าสมาชิกหลายๆ ท่านก็คงจะมีความเห็นไปในแนวทางที่คล้ายคลึงกัน ถ้าเป็นเรื่องนิรโทษกรรมสำหรับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง อย่างที่บอกถ้าเรายึดหลักของ Freedom of speech (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น) แต่แน่นอนเขาจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น อันนี้เราเห็นด้วยในหลักการ แต่หากเป็นกรณีที่มีเจตนาหรือก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือร่างกายของบุคคลอื่น อันนี้ควรเป็นไปตามหลักของกฎหมาย
โดยวทันยาย้ำอีกว่า ถ้าเป็นการนิรโทษกรรมที่นอกเหนือจากผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองซึ่งไม่ได้ละเมิดใคร แต่ตีขลุมไปจนถึงการทุจริตคอร์รัปชันสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐในแต่ละห้วงเวลา อันนี้เป็นคนละเรื่องเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์และตนเองไม่สามารถยอมรับได้
วทันยา ตอบเพิ่มเติมในคำถามที่ว่า จะเป็นผู้เสนอเรื่องนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองให้พรรคพิจารณาหรือไม่ โดยวทันยาเห็นว่า ตนเชื่อว่าจะมีการหยิบยกพูดคุยกันในพรรค รวมไปถึงถ้ามีวาระทั้งหลายหรือประชาชนมีข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อสภา หรือดำเนินการเสนอผ่านกระบวนการรัฐสภาต่างๆ ตรงจุดนี้ตนเชื่อว่าพรรคจะนำประเด็นเหล่านี้เข้ามาหารือร่วมกัน เป็นประเด็นบทสนทนาที่จะแสดงท่าทีของพรรคต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
ดู
คลิป นาทีที่ 09.32 - 12.10
พรรคพลังประชารัฐ ก้าวข้ามความขัดแย้งโดยนิรโทษกรรมหรือไม่อย่างไรต้องหาทางออกร่วมกัน
วิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่นโยบาย ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ จะนำไปสู่การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองในคดีต่างๆ โดยวิรัช กล่าวว่า พรรคพยายามก้าวข้ามแต่ละกลุ่มที่ยังมีปัญหา เพื่อให้ปัญหาของแต่ละกลุ่มลดลง ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรม พรรคจะพยายามทำ แต่ถ้าบอกไปก่อนแล้วอาจจะทำไม่สำเร็จก็ได้ ยืนยันว่ามีแผนจะผลักดันกฎหมายดังกล่าวอยู่แล้ว
ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้
สัมภาษณ์ในรายการ Vote ปะล่ะ โดยสำนักข่าวทูเดย์ ในประเด็นถึงเรื่องว่ามีนโยบายนิรโทษกรรมทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งสรุปจากที่ไพบูลย์กล่าวได้ว่า ถ้าใช้คำว่านิรโทษกรรม เป็นคำที่เซนซิทีฟของสังคมไทย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ก้าวข้ามความขัดแย้งได้ ในกรณีที่เป็นกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่เป็นอาชญากรรมประเภทยาเสพติดหรือกรณีฆ่าคนหรืออาญาร้ายแรง สังคมไทยควรหาทางออกร่วมกันได้โดยหาวิธีบรรเทาโทษบรรเทาคดีต่างกันก็แล้วแต่ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จำเป็นจะต้องหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรต้องคำนึงถึงว่าจะทำ ก็ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยในสิ่งที่จะทำไม่ใช่เป็นคนกลุ่มเล็กๆ คิดแล้วก็ไปลงมือทำ มันจะกลับกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาอีก ดังนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม หาทางช่วยเหลือผู้ต้องคดีทางการเมืองหรือกรณีอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้กลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะประชามติ เพื่อที่จะได้หาทางออกของประเทศได้จริงๆ
ดู
คลิป นาทีที่ 07.57 - 09.39
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ โพสต์
ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในประเด็น MOU จัดตั้งรัฐบาล โดยนิพิฏฐ์ระบุว่า เรื่องนิรโทษกรรมเคยมีการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณา ทั้งในและนอกสภาหลายครั้งแต่ไม่มีข้อยุติ จนเมื่อมีการนำเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภา ก็กลายเป็น “นิรโทษกรรมสุดซอย” จึงมีการชุมนุมใหญ่ เป็นเหตุให้มีการยึดอำนาจ ซึ่งในวินาทีที่มีการยึดอำนาจตนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย โดยเรื่องนิรโทษกรรม ไม่ง่าย ปัญหาที่พบ คือ
- คดีการเมืองคืออะไร มันไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายว่า คดีใด คือ "คดีการเมือง" อาจจะอนุมานได้ว่า คดีกบฏหรือคดีล้มล้างการปกครอง คือ คดีการเมือง แต่การชุมนุมครั้งนั้น ไม่มีใครโดนข้อหาเหล่านี้ การนิรโทษกรรมจึงไม่มีใครได้ประโยชน์
- คดีเผาสถานที่ราชการหรือสถานที่ของเอกชนที่มีบางคนกล่าวว่า "เผาไปเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง" คดีเหล่านี้ก็เคยถกเถียงกันว่า ไม่ใช่คดีการเมืองประกอบทั้งผู้กระทำผิดก็พ้นโทษหมดแล้ว การนิรโทษกรรมจึงไม่มีประโยชน์
- ที่มีปัญหามาก คือ "คดีทุจริต" ในบางรัฐบาล มีนักการเมือง รัฐมนตรีและข้าราชการ โดนจำคุกในคดีทุจริตมากที่สุด คดีเหล่านี้ไม่ถือเป็นคดีการเมือง หากนิรโทษเกิดการชุมนุมรอบใหม่แน่ ตนไม่ได้ "ชักใบให้เรือเสีย" แต่พอเริ่มทำ MOU ก็จะมีปัญหาตามมาว่า "คดีการเมือง" คืออะไร อย่าลืมว่าในการชุมนุมก็มีทหาร ตำรวจ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เสียชีวิตเยอะเหมือนกัน
- ตนจำได้ว่า ตอนที่ตนเป็นกรรมการพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม เรามีข้อสรุปว่า ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เราต้องเริ่มต้นจากหลักว่า (1) ค้นหาความจริง (2) เปิดเผยความจริง (3) จัดการกับความจริง (4) ลืม
- บางเรื่องมันต้องให้เวลาแก้ปัญหา อย่างอื่นมันนำมาใช้แก้ปัญหาไม่ได้ "เวลา" คือยาสมานแผลที่ดีที่สุด การ "ลืม" นี่เป็นหลักสากลทั่วโลกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่รัฐบาลหลายประเทศเขาทำสำเร็จแล้ว “ยิ่งหากท่านว่าที่นายกรัฐมนตรี จะพ่วง คดี ม.112 เป็นคดีการเมืองด้วย เหมือนเติมฟืนเข้าในกองไฟเลยครับ อย่าทำเป็นโลกสวยไปนะครับ”
- สิ่งที่ยากที่สุดตอนนี้ คือ การบริหารอารมณ์ของกองเชียร์ครับ มันยากกว่าการพูดและโบกมือบนหลังคารถมาก ประเภท"มีกรณ์ ไม่มีกู มีกูไม่มีกรณ์ หรือ "ฉันเกิดในรัฐบาล 9 ไกล" อย่าให้กองเชียร์ทำเลยครับ ไม่งั้นอาจจะมี"มีทิม ไม่มีกู มีกูไม่มีทิม" บ้านเมืองก็ไปไม่ได้ เมื่อเรียกตัวเองว่า เป็นคนรุ่นใหม่ อย่าสร้างประเทศนี้ ด้วยความโกรธแค้น ชิงชัง เลยครับ ห้ามกองเชียร์หน่อย