คำกล่าวของ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่อนหนึ่งระบุว่า
เมื่อย้อนดู ลำดับศักดิ์ทางกฎหมาย (Hierarchy of Laws) เป็นหลัก
ทฤษฎีทางกฎหมาย ซึ่งมีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการแบ่งประเภทและจัดลำดับชั้นของกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งการตีความกฎหมายว่าจะใช้กฎหมายใดฉบับใดบังคับกับข้อเท็จจริงปัญหาที่เกิดขึ้น โดย
เกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายนั้นจะพิจารณาจากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย และตามหลักคือ
กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าหรือลำดับชั้นกฎหมายที่ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า หรือมีลำดับชั้นสูงกว่ามิได้ โดยศักดิ์ของกฎหมายเป็น
ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทุกฉบับ ดังนั้น กฎหมายฉบับอื่นที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับ
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่อธิบายขยายความเพื่อประกอบเนื้อความในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ โดยกำหนดในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป
3. พระราชบัญญัติ/พระราชกำหนด/ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายลำดับชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราพระราชบัญญัติ คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภาจะตราพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายในลำดับเดียวกับพระราชบัญญัติ องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราประมวลกฎหมาย คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีลักษณะเรียบเรียงเรื่องราวไว้อย่างเป็นหมวดหมู่เดียวกันและมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน
พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติได้ในกรณีพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว
4. พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด โดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด เพื่ออธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ตามหลักการในพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาจะมีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดไม่ได้
5. กฎกระทรวง/ประกาศกระทรวง กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระราชกฤษฎีกาแต่มีศักดิ์ของกฎหมายที่ต่ำกว่า ส่วนประกาศกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเช่นเดียวกันกับกฎกระทรวง
6. ข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นข้อบัญญัติที่กฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจบัญญัติขึ้นใช้บังคับโดยจะเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ
สำหรับการตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จะดำเนินการโดยนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย
กระบวนการตราพระราชบัญญัติมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยเมื่อร่างข้อบังคับการประชุมสภาผ่านความเห็นชอบโดยสภาแล้ว สมาชิกสามารถที่จะเข้าชื่อกันเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อบังคับการประชุมสภามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร คือ
กฏหรือระเบียบที่ได้ตราขึ้น เพื่อให้ส
อดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และใช้บังคับหรือควบคุมให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม แม้
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตามมีกระบวนการตราขึ้นเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติและอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญในการตราข้อบังคับนี้ขึ้นมา สถานะทางกฎหมายจึงเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ และชัดเจนว่ามีสถานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุด การกล่าวอ้างข้อบังคับเพื่อใช้โต้แย้งประเด็นความถูกต้องเรื่องการเสนอชื่อนายกฯ เพื่อให้รัฐสภามีการพิจารณานั้นจึงเป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นกรณีเฉพาะและกำหนดไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญ การใช้บทบัญญัติในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่กำหนดเป็นการทั่วไปมาเป็นข้อคัดค้านนั้นเปรียบเสมือนการหยิบข้อกฎหมายจากกฎหมายลำดับรองที่ไม่ถูกต้อง ประกอบกับที่
ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“ รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน
การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 นอกจากนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ในหมวด 9 ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ได้แยกเรื่องนี้ออกไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดไว้เป็นการพิเศษว่า การเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนเต็ม 500 ก็จะพบว่า การเสนอชื่อนี้ต้องมีผู้รับรองถึง 50 คน
โปรดสังเกตว่า บทบัญญัติมาตรา 157 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญก็ดี บทบัญญัติของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ก็ดี ไม่ปรากฏคำว่า ‘ญัตติ’ อยู่ในที่ใด
ในขณะที่การเสนอญัตติทั่วไปตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 กำหนดว่า ต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่า 10 คน จึงเห็นการแยกแยะความแตกต่างและความสำคัญของสองเรื่องนี้ออกจากกันโดยชัดเจน
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนไว้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะนำบทบัญญัติจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภากรณีการเสนอญัตติทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณี”