การออกเสียงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ เป็นนโยบายหาเสียงสำคัญของหลายพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย สองพรรคใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นสอดคล้องกันว่า เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ววาระสำคัญคือการใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการจัดการออกเสียงประชามติ
คำถามประชามติ คือสิ่งที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการรณรงค์และลงคะแนนของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับคำถามนั้น ถ้าคำถามมีปัญหาก็อาจจะส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนหรืออาจทำให้การจัดประชามติไร้ความหมาย ดังนั้นคำถามจะถูกจัดการออกมาในรูปแบบไหนถึงมีความสำคัญไม่แพ้การออกเสียงประชามติ
5 ที่มาของการทำประชามติ
การออกเสียงประชามติถูกระบุในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 166 ว่า ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด
โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ระบุที่มาของการทำประชามติให้มาจากห้าแหล่งประกอบด้วย
1) ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (8) เมื่อมีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือหน้าที่หรืออำนาจของศาลและองค์กรอิสระ