เปิดร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพิ่มระดับความคุ้มครองสิทธิ-สวัสดิการแรงงาน

เปิดร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพิ่มระดับความคุ้มครองสิทธิ-สวัสดิการแรงงาน

เมื่อ 3 ต.ค. 2566
 
 
 
การส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานให้กินดีอยู่ดี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี นอกจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องมาควบคู่กันคือการยกระดับ “สิทธิแรงงาน” โดยคำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์รวมถึงมิติทางสังคมที่หลากหลายอย่างเป็นธรรม
 
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) กฎหมายเพื่อคุ้มครองคนทำงานฉบับสำคัญที่สุด เพราะครอบคลุมตั้งแต่มาตรฐานขั้นต่ำในการใช้แรงงาน การจ่ายค่าตอบแทน ไปจนถึงสวัสดิการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยกฎหมายฉบับนี้ปรับปรุงแก้ไขบางมาตราจนถึงปัจจุบันเจ็ดครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์สังคมที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย
 
นอกจากนี้ ในสภาผู้แทนราษฎร​ชุดที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 (ชุดที่ 25) ยังปรากฎความพยายามของพรรคการเมืองที่เคยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในหลายประเด็น แม้จะสำเร็จเพียงแค่ฉบับเดียวคือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ที่สาระสำคัญคือประเด็นของการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย แต่อีกสองฉบับเสนอโดยพรรคก้าวไกล (รวมถึงก่อนพรรคอนาคตใหม่ยุบพรรค) กลับถูกปัดตกโดย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 
 
อย่างไรก็ตาม ในสภาชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2566 (ชุดที่ 26)  พรรคก้าวไกลยังคงผลักดันการปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อ โดยเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานสองฉบับ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ 
 
 
ขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในช่องทางที่ให้ประชาชนช่วยตรวจสอบแบ่งปันความคิดเห็นเพื่อร่วมยืนยันความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของ “คนทำงาน” อย่างแท้จริง ชวนอ่านเนื้อหาของร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ว่าจะคุ้มครองเหล่าคนทำงานมากขึ้นอย่างไร
 
 
คุ้มครองครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐ ขยาย “สิทธิลาคลอดถึง 180 วัน”
 
 
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ  แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 4 และ 41 มีสาระสำคัญเดียวกันกับร่างกฎหมายที่เคยเสนอในครั้งที่แล้ว (มาตรา 41  ถูก เสนอแก้ไขโดยสส.พรรคอนาคตใหม่ (ก่อนยุบพรรค) ส่วนมาตรา 4 เสนอโดยสส.พรรคก้าวไกล) และในครั้งนี้ก็ถูกประธานสภาาตีความว่าเป็นร่างการเงินเช่นเดียวกัน ซึ่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน จะต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรองก่อน จึงจะเสนอเข้าสภาได้ แต่หากนายกฯ ไม่ให้คำรับรอง ก็จะตกไป 
 
สาระสำคัญของการแก้ไข มีดังนี้ 
 
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4 ขยายขอบเขตการใช้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 
 
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดแก้ไข มาตรา 4 “ข้อยกเว้นของขอบเขตการใช้บังคับ” จากเดิมในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จะใช้บังคับแก่นายจ้างลูกจ้างทุกรายไม่ว่าจะประกอบกิจการอะไรก็ตาม แต่ยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับแก่กิจการหรือหน่วยงานที่มีกฎหมายคุ้มครองโดยเฉพาะ ดังต่อไปนี้
  • ราชการส่วนกลาง (กระทรวง และกรมหรือเทียบเท่า) ราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ)  และราชการส่วนท้องถิ่น (เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร ฯลฯ) 
  • รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  • กิจการหรือองค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะที่มีพ.ร.บ.จัดตั้งกิจการหรือองค์การดังกล่าวได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งฉบับหรือเฉพาะรายมาตรา เช่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2539 มาตรา 29 , พ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541 มาตรา 5 เป็นต้น
ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดแก้ไขให้กิจการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ข้างต้นที่ได้รับการยกเว้นไม่ให้อยู่ในบังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายด้วย ได้แก่
 
  • ราชการส่วนกลาง (กระทรวง และกรม/เทียบเท่า) ราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ)  และราชการส่วนท้องถิ่น (เทศบาล อบต. อบจ. กรุงเทพมหานคร ฯลฯ) 
  • รัฐวิสาหกิจ
  • หน่วยงานของรัฐ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา
 
อีกทั้งยังระบุข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่า หากหน่วยงานสามหน่วยข้างต้นมีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้วสามารถใช้กฎหมายนั้นได้ แต่ “สิทธิประโยชน์” และ “มาตรฐานในการคุ้มครองแรงงาน” ที่ใช้บังคับจะต้องไม่ต่ำกว่าพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หากกฎหมายของหน่วยงานนั้นกำหนดมาตรฐานต่ำกว่าพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หน่วยงานนั้นต้องตกอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับนี้ 
 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การออกกฎหมายลำดับรองต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้และคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของ ผู้ปฏิบัติงาน แรงงาน ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง
 
ขยาย “สิทธิลาคลอด” เป็น 180 วัน พ่อแม่แบ่งวันลาได้ตามสะดวก 
 
พรรคก้าวไกลสานต่อหนึ่งในนโยบายสวัสดิการ โดยเสนอให้แก้ในประเด็นเรื่อง “สิทธิลาคลอด” จากเดิมที่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปัจจุบัน มาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งลาได้ไม่เกิน 98 วัน 
 
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จึงแก้ไขมาตรา 41 ให้ลูกจ้างหญิงลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตร ครรภ์หนึ่งรวมเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอด อีกทั้ง ยังระบุให้ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับค่าจ้างพร้อมสิทธิประโยชน์อื่นใดจากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน 
 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ มารดา (ลูกจ้างหญิง) สามารถมอบสิทธิลาดังกล่าวให้บิดาของบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน หากไม่มีบิดาหรือมารดา ให้ผู้ปกครองตามกฎหมายได้รับสิทธิข้างต้น 
 
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขมาตรา 41  ตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับก้าวไกล ยังคงเนื้อความเดิมในส่วนของรายละเอียดอื่นไว้ กล่าวคือ วันลาเพื่อคลอดบุตรให้หมายความรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร รวมถึงให้วันลานับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย
 
โดยสรุป ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแรก ที่เสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ใจความหลักคือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4 นั้นจะช่วยคุ้มครองคนทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 จะช่วยยกระดับสิทธิลาคลอดโดยขยายขอบเขตให้กว้างมากยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องของระยะเวลาไปจนถึงการยกระดับสิทธิโดยคำนึงถึงมิติที่หลากหลายทั้งเรื่องเพศและความเท่าเทียม ไม่มองว่าลูกจ้างหญิงเท่านั้นที่สมควรต้องเป็นผู้ดูแลบุตรฝ่ายเดียว แต่ลูกจ้างชายในฐานะบิดาก็ควรมีสิทธิลาเพื่อช่วยบรรเทาหน้าที่ภรรยาได้เช่นเดียวกัน
 
เพิ่มระดับความคุ้มครองสิทธิ-สวัสดิการแรงงาน 
 
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....   เสนอโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมมีเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมต่อค่าครองชีพและเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปจนถึงเรื่องยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเวลาสำหรับคนทำงานให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน 
 
แก้ไขเพิ่มเติมนิยาม คำว่า นายจ้าง ลูกจ้าง และ วันลา รวมถึงเพิ่มนิยาม การจ้างรายเดือน
 
ขอบเขตนิยามในมาตรา 5 ซึ่งแต่เดิมบทนิยามประเภทนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงความหมายของวันลามีเพียงสั้นๆ  ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน  จึงแก้ไขเพิ่มเติมขยายความให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยสรุปดังนี้
 
“นายจ้าง” ให้หมายความรวมถึง นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามกฎหมายเกี่ยวด้วย
แรงงาน หรือตามสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาอื่นใด รวมถึงให้ผู้ประกอบการหรือภาครัฐที่มีการรับเหมาค่าแรงอยู่ในนิยามของนายจ้างมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย
 
“ลูกจ้าง”  ให้หมายความรวมถึง
  • ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามกฎหมายเกี่ยวด้วยแรงงาน
  • ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ 
  • ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาใด ๆ ทั้งปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร
  • “วันลา” เพิ่มรายละเอียด ให้ “ลาเพื่อการอื่นใดที่ปรากฏในพระราชบัญญัติฉบับนี้”
  • เพิ่มบทนิยามใหม่ “การจ้างงานรายเดือน” เป็นการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อันรวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด
 
การจ้างงานมีความเท่าเทียมในทุกด้าน ไม่เลือกปฏิบัติในทุกสถานการณ์ 
 
 
จากเดิมใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 15 กำหนดเรื่องความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในการพิจารณาจ้างงานเท่านั้น แต่ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยสส.พรรคก้าวไกล กำหนดเพิ่มรายละเอียดขยายขอบเขตให้กว้างมากขึ้นไปอีกคือ ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ หรือทำการอื่นใดให้ผู้อื่นไม่ได้รับสิทธิอันเขาพึงได้ตามกฎหมาย ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
 
  • ความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ 
  • ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ 
  • สถานะของบุคคล 
  • ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม 
  • ความเชื่อทางศาสนา
  • การศึกษาอบรม 
  • ความคิดเห็นทางการเมือง
 
รวมถึงให้นายจ้างไม่มีสิทธิเลือกปฏิบัติโดยยกเหตุข้างต้นต่อสถานการณ์อื่นๆ เช่น การเพิ่มค่าจ้าง การเลื่อนตำแหน่ง การให้สวัสดิการ
 
เวลาทำงานเหลือ 5 วัน หรือ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกินต้องได้ OT 
 
จากเดิมที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 23 กำหนดให้เวลาทำงานรวมแล้วตลอดหนึ่งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง เว้นแต่งานที่เป็นอันตรายสุขภาพรวมแล้วตลอดหนึ่งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 42 ชั่วโมง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จึงแก้ไขเพิ่มเติม ลดระยะเวลาทำงานลง ดังนี้ 
 
เวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง
งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง 
 
อีกทั้ง ยังเพิ่มเติมประเด็นใหม่ประกอบเข้าไปสำหรับสถานประกอบการที่มีการจ้างงาน รายวันและรายเดือน นายจ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ ได้แก่ งานในภาคเกษตร งานก่อสร้าง งานที่ไม่มีความต่อเนื่อง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลา โดยนายจ้างต้องรับรองรายรับ ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและให้ได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานระบบอื่นของนายจ้าง
 
เพิ่มขั้นต่ำวันหยุดประจำสัปดาห์  เพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปีขั้นต่ำ 10 วัน 
 
จากเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 28 กำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า “หนึ่งวัน” โดยร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับก้าวไกล ปรับเพิ่มให้วันหยุดประจำสัปดาห์สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า “สองวัน” 
 
ในมาตรา 30 กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานมาแล้วติดต่อกันครบหนึ่งปีมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าหกวันต่อปี ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยสส.พรรคก้าวไกล ปรับลดเงื่อนไขระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างที่จะใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี จากต้องทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีให้เหลือเพียง ทำงานติดต่อกัน 120 วัน ก็มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 10 วัน หรือนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดมากกว่านี้ก็ได้เช่นกัน
 
เพิ่มสิทธิลาไปรักษาดูแลคนในครอบครัว/คนสนิท ไม่เกิน 15 วันทำงานต่อปี 
 
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มความในมาตรา 32 ซึ่งกำหนดเรื่องการใช้สิทธิลาป่วยของลูกจ้าง โดยยังคงใจความเดิมในเรื่องเงื่อนไขของการใช้สิทธิลาป่วยไว้แต่เพิ่มสิทธิที่นอกเหนือจากการลาป่วยเพื่อรักษาตัวเองคือ ให้ลาเพื่อไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดซึ่งเป็นผู้ป่วยปีละไม่เกิน 15 วัน โดยนายจ้างอาจแจ้งให้ลูกจ้างแนบหลักฐาน เช่น ใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งประกอบการขอลาได้ด้วย 
 
เพิ่ม “ห้องคุณแม่” ในสถานประกอบการ
 
สำหรับประเด็นนี้สอดคล้องและส่งเสริม สิทธิการให้นมแม่ ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ ในประเทศไทยยังมีน้อยที่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในขณะที่หลายประเทศยกเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญระดับชาติ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา การให้นมบุตรถือเป็นสิทธิที่มารดาพึงจะกระทำได้ ทั้งในที่สาธารณะและในที่รโหฐาน 
 
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่สส. ก้าวไกลเสนอ เพิ่มบทบัญญัติใหม่คือ มาตรา 39/2 กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ลูกจ้างสามารถให้นมบุตรหรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ครั้งละ 30 นาที ในช่วงเวลาแปดชั่วโมงของการทำงาน ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย หนึ่งปีหลังคลอด
 
โดยสรุป ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่เสนอโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ใจความหลักคือการแก้ไขบางบทบัญญัติให้มีความละเอียดสอดคล้องกับสถานการ์ณปัจจุบันทั้งเรื่องของหลักเกณฑ์การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมต่อค่าครองชีพและเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงยกระดับสิทธิต่างๆ โดยคำนึงถึงคุณภาพของคนทำงานให้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมเป็นสำคัญ เช่น การเพิ่มวันหยุด ลดกรอบเวลาการทำงาน เพิ่มสิทธิลาดูแลครอบครัว ไปจนถึงการส่งเสริมประเด็นใหม่ ๆ อย่างการกำหนดให้สถานประกอบการเห็นความสำคัญในการจัดสถานที่ให้นมบุตรสำหรับลูกจ้างหญิง
 
 
(อ้างอิง : เกษมสันต์ วิลาวรรณ.(2563),คำอธิบายกฎหมายแรงงาน พิมพ์ครั้งที่ 28)