ตุลาคมเดือด! นัด ม.112 พิพากษา 15 คดี ชวนทุกคนส่งกำลังใจ ผูกโบว์ขาว-ร่วมฟังศาลอ่านคำพิพากษา

ตุลาคมเดือด! นัด ม.112 พิพากษา 15 คดี ชวนทุกคนส่งกำลังใจ ผูกโบว์ขาว-ร่วมฟังศาลอ่านคำพิพากษา

เมื่อ 5 ต.ค. 2566
 
 
รู้หรือไม่ ในเดือนตุลาคม 2566 มีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากถึง 15 คดี ไม่เคยมีช่วงไหนที่มีนัดติดๆ กันมากขนาดนี้มาก่อน และยังมีวันนัดสืบพยานอีกหลายสิบคดี ซึ่งยังไม่รวมคดีข้อหาอื่นๆ จากการแสดงออกทางการเมือง เช่น คดีละเมิดอำนาจศาล คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกหลายสิบคดี ที่ก็มาพร้อมๆ กันในเดือนนี้
 
ในช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ เมื่อศาลทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแล้ว แม้คดียังไม่ถึงที่สุดแต่อัตราส่วนของคนที่ได้รับการประกันตัวก็น้อยลงมาก และทำให้จำนวนผู้ต้องขังในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับถึงต้นเดือนตุลาคมอย่างน้อย 35 คน แม้สังคมไทยจะพยายามกลับเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยเสรีหลังการเลือกตั้งแล้ว แต่ดูเหมือนสถานการณ์คดีความจะเดินทางกลับด้าน
 
ในสถานการณ์ที่คดีความกำลังเร่งรัดเข้ามามากมาย และอาจจะมีจำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราพอช่วยกันทำได้ในเวลานี้ ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการให้กำลังใจกันและกันและให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดียังทราบว่า พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยวและไม่ได้กำลังถูกลืมเลือน
 
iLaw จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมกิจกรรมดังต่อไปนี้ :
 
ร่วมฟังคำพิพากษาคดี ม.112 ในห้องพิจารณาคดีเคียงข้างกับจำเลยในทุกคดี ตามศาลที่เดินทางสะดวกและตามวันเวลาที่สะดวก เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการอ่านคำพิพากษาแต่ละคดีด้วยตาและหูของตัวเอง พร้อมให้กำลังใจผู้ที่กำลังถูกตัดสินโทษด้วยข้อหาจากการแสดงออกทางการเมือง
 
ผูกริบบิ้นสีขาวไว้ที่ข้อมือในวันที่มีการอ่านคำพิพากษา เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ที่กำลังเดินหน้าไปให้คนรอบข้างได้รับรู้ หากมีใครถามถึงสาเหตุและความหมายของริบบิ้น ก็จะเป็นโอกาสให้เปิดการสนทนา และอธิบายข้อมูลว่า ในวันนั้นๆ กำลังมีคำพิพากษาและอาจมีคนต้องเข้าเรือนจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
โดยคดีมาตรา 112 มีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในเดือนตุลาคม มีดังต่อไปนี้: 
 
 
 
 
วันที่ 4 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ พรชัย ณ ศาลจังหวัดยะลา
วันที่ 4 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ ‘เซ็นเตอร์’ ณ ศาลพิษณุโลก
วันที่ 10 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ ตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยา ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 11 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ ‘เวฟ’ ณ ศาลอาญา รัชดา กรุงเทพ
วันที่ 17 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ ภัคภิญญา ณ ศาลจังหวัดนราธิวาส
วันที่ 19 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ สหรัฐ ณ ศาลอาญา กรุงเทพใต้
วันที่ 20 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ ‘กัลยา’ ณ ศาลจังหวัดนราธิวาส
วันที่ 24 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ สุรีมาศ ณ ศาลจังหวัดกระบี่ 
วันที่ 25 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ ‘ต้น’ ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 25 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ พชรพล ณ ศาลจังหวัดตลิ่งชัน
วันที่ 25 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ พิพัทธ์ ณ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
วันที่ 26 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ ‘วารี’ ณ ศาลจังหวัดนราธิวาส
วันที่ 30 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ เบนจา อะปัญ ณ ศาลอาญา กรุงเทพใต้
วันที่ 30 ตุลาคม นัดฟังคำพิพากษา คดีของ มณีขวัญ ณ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
วันที่ 30 ตุลาคมนัดฟังคำพิพากษา คดีของ บาส-มงคล ณ ศาลจังหวัดเชียงราย
 
การพิจารณาคดีทุกคดีโดยปกติแล้วเป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ประชาชนทุกคนสามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ผู้พิพากษาในแต่ละคดีมีอำนาจที่จะสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยไม่ให้คนนอกเข้าฟังก็ได้หากเห็นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของความสงบเรียบร้อย ซึ่งหากคดีใดศาลสั่งเช่นนั้นผู้ที่ไปสังเกตการณ์ก็ต้องออกนอกห้องพิจารณา ซึ่งในระยะ 1-2 ปีหลัง การพิจารณาคดีมาตรา 112 ศาลไม่ได้สั่งพิจารณาคดีลับ และให้คนนอกเข้าฟังการพิจารณาคดีได้เกือบทั้งหมด
 
ในการไปร่วมสังเกตการณ์คดี หรือการฟังคำพิพากษา ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของศาลให้ถูกต้อง โดยการแต่งตัวให้เรียบร้อย ใส่เสื้อมีแขน ใส่กางเกงขายาว ใส่รองเท้าผ้าใบ ไม่เปิดเสียงโทรศัพท์ ไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารในห้องพิจารณาคดี ไม่ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ หรือบันทึกเสียงในห้องพิจารณาคดี และปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ศาลแต่ละแห่ง หรือผู้พิพากษาเจ้าของคดีแต่ละคนจะประกาศใช้
 
ประชาชนที่พร้อมจะไปร่วมฟังคำพิพากษา สามารถดูหมายเลขห้องพิจารณาคดีที่จะใช้ในแต่ละคดีได้ที่ “ระบบติดตามสำนวนคดี” จากเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม และตรวจสอบเลขคดีได้ที่ “ฐานข้อมูลคดีสิทธิเสรีภาพ” ด้วยการนำชื่อผู้รับฟังคำพิพากษาไปค้นหาในช่องค้นหาข้อมูลคดี หรือในวันที่มีนัดฟังคำพิพากษาสามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่ศาลทุกแห่งได้ โดยค้นหาจากชื่อของจำเลย หรือข้อหาของคดีที่มีการนัดหมายในวันนั้นๆ
 
“ทุกวันที่มีคนผูกริบบิ้นขาว วันนั้นหมายความว่าอาจจะมีคนต้องก้าวขาเข้าคุก"
 
ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และไปให้กำลังใจพวกเขาในห้องพิจารณาคดีด้วยกัน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแต่ละคดีที่มีนัดหมายฟังคำพิพากษา สามารถดูได้จากปฏิทินของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 
ประเภทเรื่องน่าสนใจ: