สภาคว่ำข้อเสนอ สส. ฝ่านค้าน ขอให้ทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สภาคว่ำข้อเสนอ สส. ฝ่านค้าน ขอให้ทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เมื่อ 25 ต.ค. 2566

 
25 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาญัตติเสนอให้จัดทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคก้าวไกล ใช้กลไกตามพระราชบัญญัติว่าการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) 
 
ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 กำหนดกลไกการออกเสียงประชามติไว้ห้ากรณี คือ
1) การทำประชามติตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุสมควร
2) การทำประชามติกรณีรัฐสภาพิจารณาและมีมติเห็นว่าสมควรให้มีการทำประชามติ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
3) การทำประชามติ กรณีที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอคณะรัฐมนตรี
4) การทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด
5) การทำประชามติเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องทำประชามติ
 
สำหรับญัตติเสนอให้จัดทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วย 262 เสียง เห็นด้วย 162 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เป็นผลให้ญัตติดังกล่าวตกไป
 
การใช้กลไกตามพ.ร.บ. ประชามติ ให้รัฐสภามีมติเพื่อให้จัดทำประชามตินั้น เคยถูกเสนอมาแล้วในสมัยของสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เมื่อ 15 กันยายน 2565 สส. ฝ่ายค้านในขณะนั้น คือ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย และณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จากพรรคก้าวไกล เคยเสนอญัตติเพื่อให้รัฐสภาลงมติให้จัดทำประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ญัตติดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างดี 3 พฤศจิกายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ไปต่อ เพราะตกไปในชั้นวุฒิสภา เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566 วุฒิสภามีมติไม่เห็นด้วยกับการส่งให้ ครม. ทำประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วย 157 เสียง เห็นด้วย 12 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
 
นอกจากข้อเสนอของ สส. ที่เสนอให้รัฐสภาเคาะทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ตกไปแล้วนั้น เส้นทางการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยังมีข้อเสนอจากภาคประชาชน รวมถึงรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายที่จะจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยทั้งสองช่องทางมีความคืบหน้าแตกต่างกัน ดังนี้
 
ภาคประชาชน : นับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ก็เริ่มผลักดันแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ที่อาศัยช่องทางตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 (5) โดยยื่น 211,904 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปแล้วเมื่อ 30 สิงหาคม 2566 และเมื่อ 19 กันยายน 2566 ทางกกต. ก็แจ้งว่าตรวจสอบรายชื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงส่งต่อไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ครม. พิจารณาต่อไป โดยครม. มีดุลยพินิจที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของประชาชน หาก ครม.ไม่เห็นชอบ ข้อเสนอของประชาชนก็เป็นอันตกไป
 
รัฐบาล : เมื่อ 3 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนทั้งหมด 35 คน โดยมีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ภายหลังพรรคก้าวไกลออกมาชี้แจงว่าไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ ส่งผลให้คณะกรรมการชุดนี้มีเพียง 34 คนเท่านั้น สำหรับกรอบระยะเวลาทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ภูมิธรรมชี้แจงว่า ตั้งเป้าว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2566 และจะมีการทำประชามติเกิดขึ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2567
 
สำหรับข้อเสนอของสส. ที่ตกไปแล้วนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 25 ตุลาคม 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคก้าวไกล ผู้เสนอญัตตินี้ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาทั้งด้านที่มา กระบวนการร่าง และมีปัญหาทางด้านเนื้อหา ดังนั้น จึงต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทางด้านเนื้อหา โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% โดยเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติ ว่า
 
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมัการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”
 
พริษฐ์ชี้แจงว่า หากเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โอบรับทุกความแตกต่าง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง ก็ไม่ควรกำหนดคำถามประชามติที่คิดแทนประชาชน ควรเขียนคำถามที่เปิดกว้างต่อทุกความเห็น ทั้งนี้ การที่คำถามประชามติเปิดทางให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่เขียนใหม่ถูกแก้ไขได้ ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาทั้งหมดจะถูกแก้ไข หากมาตราใดในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คนส่วนใหญ่มองว่าดีอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไข มาตราเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับความเห็นชอบให้แก้ไข
 
สำหรับที่มาของสสร. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด พริษฐ์ระบุว่า เป็นหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย สภาผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่ออกกฎหมายยังต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แล้วทำไมสสร. ที่จะมาเขียนกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญจึงจะมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนน้อยกว่า สส. ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ต้องการให้ สสร. ถูกผูกขาด และมีความหลากหลาย ก็ยิ่งไม่ควรให้มี สสร. จากการแต่งตั้งโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะเป็นตัวแทนทุกชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคม ตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ
 
สำหรับข้อกังวลเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าไปช่วยยกร่าง พริษฐ์ระบุว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้ามาช่วยให้ความคิดเห็นหรือช่วยยกร่างได้ แต่สุดท้ายทุกการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับ สสร. ที่เป็นตัวแทนประชาชน
 
ญัตตินี้ มี สส. ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอภิปรายหลายราย ทั้งจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดย สส. พรรคร่วมรัฐบาล มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่พอจะสรุปได้สามข้อ คือ 1) รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแล้ว ควรให้คณะกรรมการดังกล่าวทำงานก่อน 2) การกำหนดให้ สสร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจถูกตีความได้ว่าสามารถแก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ได้ 3) ข้อถกเถียงเรื่องที่มา สสร. ว่าจะกำหนดอย่างไร ยังไม่ยุติ
 
โดยอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.พรรคพลังประชารัฐ  ที่อภิปรายว่าจะไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ เพราะรัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ไปแล้ว จึงควรให้เวลาคณะกรรมการชุดนี้รวมถึงอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาอีกสองคณะได้ทำงานก่อน หากตนเห็นด้วยกับญัตตินี้ ความเห็นชอบของสภาจะข้ามหัวของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ 
 
ด้านลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ดี ก็ไม่สามารถเห็นชอบกับญัตตินี้ได้ ด้วยเหตุผลสองข้อ คือ 
 
1) ความละเอียดอ่อนในการจัดทำคำถามประชามติ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน การระบุคำถามว่า จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจนำไปสู่ข้อกังวลของหลายภาคส่วนในสังคมว่า การจัดทำใหม่ทั้งฉบับรวมถึงการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ด้วยหรือไม่ พรรคเพื่อไทยเสนอว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไข หมวด 1 หมวด 2 เพื่อปลดล็อกข้อกังวลของทุกฝ่าย
 
2) การกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ถือเป็นการตีกรอบที่มาของ สสร. จนเกินเหตุ ขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงในรายละเอียดอย่างกว้างขวาง เช่น ให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม เหมือนปี 2540 รายละเอียดเหล่านี้ยังต้องมีการตกผลึก สิ่งที่เสนอในญัตตินี้ยังไม่ได้เกิดจากการตกผลึก