เลือกสว. 2567 : รู้จักผู้ควบคุมการเลือก สว.

เลือกสว. 2567 : รู้จักผู้ควบคุมการเลือก สว.

เมื่อ 9 ม.ค. 2567
วุฒิสมาชิก (สว.)  250 คน จากการแต่งตั้งของ คสช.ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จะครบวาระห้าปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นจะมี สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยที่มาของ สว.ชุดใหม่ 200 คน มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัคร สว. จำนวน 20 กลุ่มอาชีพ โดยจะมีการคัดเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
 
แม้กระบวนการได้ สว. จะมาจากการเลือกกันเองของผู้สมัคร แต่ก็มีกรรมการในการคอยดูแลและควบคุมการเลือก สว. ด้วยเช่นกัน โดยใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ได้กำหนดที่มาและบทบาทของผู้ดูแลการเลือก สว. ไว้ดังนี้
 
คณะกรรมการการเลือก สว. : หัวหน้าส่วนข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกของราชการ 
 
ในการเลือก สว. กฎหมายกำหนดให้มีการดำเนินการตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตามลำดับ ทั้งนี้ในแต่ละระดับจะมีกรรมการทำหน้าที่ดูแลและควบคุมการเลือก สว. ให้เป็นไปตามกฎหมาย  ซึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการเลือก” มีหน้าที่และอำนาจช่วยเหลือการปฏิบัติงาน แนะนำอำนวยความสะดวก และรายงานปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง และดำเนินการที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามระเบียบ กกต.
 
โดยที่มาของกรรมการการเลือกในแต่ละดับเป็นดังต่อไปนี้
 
๐ คณะกรรมการระดับอำเภอ จำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย
 
1. นายอำเภอ เป็นประธานกรรมการ
2. หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจำนวนสามคน เป็นกรรมการ
3. ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตอำเภอ จำนวนสองคน เป็นกรรมการ
4. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. หรือข้าราชการประจำอำเภอ ซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
๐ คณะกรรมการระดับอำเภอ สำหรับกรุงเทพมหานคร จำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย
 
1. ผู้อำนวยการเขต เป็นประธานกรรมการ
2. ข้าราชการกรุงเทพมหานครในเขตนั้น ซึ่งผู้อำนวยการเขตแต่งตั้งจำนวนสามคน เป็นกรรมการ
3. ผู้ทรงคุณวุฒิในเขต จำนวนสองคน เป็นกรรมการ
4. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. หรือข้าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
๐ คณะกรรมการระดับจังหวัด จำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย
 
1. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
2. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในเขตจังหวัดนั้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวนสามคน เป็นกรรมการ
3. ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตจังหวัด จำนวนสองคน เป็นกรรมการ
4. ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
๐ คณะกรรมการระดับจังหวัด สำหรับกรุงเทพมหานคร จำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วย
 
1. ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ
2. ข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งปลัดกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง จำนวนสามคน เป็นกรรมการ
3. ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนสองคน เป็นกรรมการ
4. ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
สำหรับที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งระดับจังหวัดและอำเภอให้มาจากการเลือกของ กรรมการโดยตำแหน่งหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
 
๐ คณะกรรมการระดับประเทศ
 
1. ประธาน กกต. เป็นประธานกรรมการ
2. กรรมการ กกต. เป็นกรรมการ
3. เลขาธิการ กกต. เป็นเลขานุการ
 
คุณสมบัติกรรมการการเลือก สว. : ห้ามมีญาติลงสมัครด้วย
 
สำหรับกรรมการเลือกในระดับจังหวัดและอำเภอจะมีสองกลุ่มคือ "กรรมการโดยตำแหน่งหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา" กับ "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่เป็นกรรมการทั้งสองประเภทมีคุณสมบัติที่ทั้งเหมือนและต่างกันดังนี้
 
คุณสมบัติที่เหมือนกันของกรรมการทั้งสองประเภท
 
1) ต้องไม่เป็นบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ ของผู้สมัครในเขตอำเภอหรือในเขตจังหวัดนั้น 
 
คุณสมบัติเฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
 
2) ต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 
 
3) ต้องไม่ได้เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
 
ผู้อำนวยการเลือก สว. : ดูแลงานจัดการการเลือก สว.
 
นอกจากกรรมการเลือก สว. แล้ว กฎหมายยังกำหนดให้มีผู้อำนวยการเลือก สว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยกำหนดให้บุคคลที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการการเลือก สว. ในแต่ละระดับทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือก 
 
- ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ คือ เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. หรือข้าราชการประจำอำเภอ ซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่งตั้ง 
- ผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัด คือ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
-  ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศ คือ  เลขาธิการ กกต.
 
สำหรับหน้าที่ของผู้อำนวยการเลือกจะมีบทบาทหน้าที่ในการทำงานจัดการ เช่น การจัดสถานที่รับสมัคร สถานที่เลือก สว. ตรวจสอบคุณสมบัติ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการประกาศผล รวมทั้งบันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือก สว. เป็นต้น
 
ประเภทเรื่องน่าสนใจ: