ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ พ.ร.บ.ประกันสังคมขัดรัฐธรรมนูญ
นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน มาชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีการร้องเรียนว่าการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อนำไป เป็นค่ารักษาพยาบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า กฎหมายประกันสังคมในส่วนของการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนไปเป็นค่าดูแล สุขภาพ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ระบุถึงการได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคล เพราะในขณะที่ สปส.เก็บเงินส่วนหนึ่งของผู้ประกันตนไปเป็นค่ารักษาพยาบาล แต่ สปสช.ดูแลสุขภาพคนทั้งประเทศในมาตรฐานเดียวกันโดยไม่ต้องจ่าย
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะเร่งทำหนังสือแสดงผลการวินิจฉัยถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะผู้รับผิดชอบโดยเร็วที่สุด เนื่องจากขณะนี้กำลังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขอยู่ในสภา อย่างไรก็ตาม หากผู้เกี่ยวข้องยังเพิกเฉยก็จะพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ พิจารณาวินิจฉัยให้มีสภาพบังคับต่อไป
ที่มาข่าว thailabourcampaign
จำคุก13 ปีผู้ออกแบบเว็บนปช.USA ฐานหมิ่นเบื้องสูง – พ.ร.บ.คอม
คดีนี้พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องนาย ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อายุ 38 ปี นามแฝง “ เรดอีเกิ้ล ” ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.norporchorusa.com เป็นจำเลย ว่าเป็นผู้โพสข้อควาเข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 ข้อความ และฐานเป็นผู้ดูแลเว็บจงใจหรือยินยอมให้มีการโพสข้อความผิดกฎหมายอีก1 ข้อความ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์ คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้จำคุก 10 ปี และฐานเป็นผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน จำคุกอีก 3 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 13 ปี และให้ริบของกลาง
ที่มาข่าว กรุงเทพธุรกิจ
กรณีนายอำพล ตั้งนพกุล วัย 61 ปี ผู้ต้องหาส่ง SMS เข้าข่ายหมิ่นสถาบันไปยังมือถือเลขาฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้น วันที่ 15 มี.ค. 54 ญาติและทนายเดินทางมาศาลอาญายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 แต่ศาลยกคำร้อง จึงไม่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทั้งนี้ ศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น.ที่ศาลอาญา
ที่มาข่าว ประชาไท
โครงการเฝ้าระวังหนังสือบริจาค แถลงการณ์ีระวังพระราชกฤษฎีกา
โครงการเฝ้าระวังหนังสือบริจาค โดยเวียง-วชิระ บัวสนธ์ ออกแถลงการณ์ หลังมีประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 515 ออกมา เพื่อยกเว้นภาษีให้กับผู้บริจาคหนังสือ
เรียกร้องให้ทุกฝ่าย ช่วยกันสอดส่องผลจากการใช้พระราชกฤษฎีกานี้ และชวนให้ทุกคนมาร่วมลงชื่อได้ ทาง เฟซบุ๊ค ของโครงการ และเรียกร้องให้ สมาคมหลักแห่งวงการหนังสือหนังหาบ้านเรา ได้แก่ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, สมาคมภาษาและหนังสือฯ และ สมาคมนักเขียนฯ ร่วมกันทำอะไรสักอย่างต่อเรื่องนี้โดยด่วน
ที่มาข่าว เฟซบุ๊คเวียง-วชิระ บัวสนะธ์
ภาคีเครือข่าย 11 องค์กร หนุนรัฐบาลให้คลอด พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค โดยไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งการก่อตั้งองค์กรดังกล่าวนี้จะเป็นการก่อตั้งอย่างถูกต้องตามหลักรัฐ ธรรมนูญ 2550
นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า ได้มีการย้ำในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญวิสามัญร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคว่าร่างกฏหมายฉบับนี้ต้องนำเข้าที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วไม่ควรเกินวันที่ 23 มี.ค.นี้
ที่มาข่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) เผยแพร่แถลงการณ์โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culture Foundation: CrCF) ระบุว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ตอกย้ำข้อวิจารณ์ดังกล่าว และเป็นการยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยไร้ประสิทธิภาพ หรือปกป้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดให้ลอยนวล และไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการที่เพียงพอในการนำผู้กระทำผิดโดยบังคับให้บุคคลสูญหายมาลงโทษได้
พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งลงนามเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all persons from Enforced Disappearance) เพื่อนำมาซึ่งการตราบทบัญญัติในกฎหมายอาญาว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการกระทำผิดทางอาญา
ที่มาข่้าว ประชาไท