นิทรรศการ "คำถามในนามของมนุษย์" ในวาระครบรอบหนึ่งปี

วันที่ 18 - 19 พฤษภาคม 2554

อนุสรณ์สถาน มูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

 

นิทรรศการ “คำถามในนามของมนุษย์” ได้รับแรงเร้าอย่างสำคัญจาก

บรรยากาศหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 เมื่อสังคมไทยถูกปกคลุมด้วยความเงียบ ปราศจากคำถาม ตลอดจนความพยายามอย่างจริงจังที่จะแสวงหาคำตอบให้กับโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่ โดยสามัญสำนึกทั่วไปของมนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต่างพัฒนาตนเองและสังคมไปได้ก็ด้วยการตั้งคำถามกับชีวิตและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอมา จึงเป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อคำถามในส่วนต่าง ๆ ของนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็น“ความรุนแรงเดินทางมาอย่างไร?”, “เราทำลายใคร?”, “อะไรทำลายเรา?” และ “เรากำลังทำอะไร?”ซึ่งเป็นคำถามพื้นฐานง่าย ๆ ที่มนุษย์มักจะถามเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมหนึ่ง ๆ กลับกลายเป็นคำถามที่ยากเย็นเสียเหลือเกินหากใครคนหนึ่งจะเอ่ยกับตนเองและสังคม กระทั่งกลายเป็นเรื่องยากเย็นเสียเหลือเกินที่ใครคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำลายความเงียบเพื่อยืนยันและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นิทรรศการได้จัดแสดงผ่านคำถามหลัก 3 ส่วน ได้แก่
1. ความรุนแรงเดินทางมาอย่างไร? นิทรรศการส่วนนี้แสดงข้อมูลเชิงสถิติในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ผ่านการรวบรวมและเรียบเรียงโดยคณะผู้จัดทำ เพื่อให้ผู้ชมสามารถมองเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้สะดวก อาทิ การจัดทำแผนที่ความรุนแรง ข้อมูลเบื้องต้นของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในแต่ละวัน ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม

2. “เราทำลายใคร และอะไรทำลายเรา?” นิทรรศการส่วนนี้ แบ่งออกเป็น 2 คำถามย่อย ได้แก่ เราทำลายใคร? แสดงเรื่องราวและประวัติของผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวพันกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 จากหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุม ชาวบ้าน สื่อมวลชน หน่วยกู้ชีพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร พวกเขาต่างเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมาจากตำแหน่งทางสังคมใด “เรา” ทำลายใคร ? จึงเป็นคำถามที่น่าใคร่ครวญ
และ อะไรทำลายเรา? แสดงศิลปะจัดวาง เพื่อกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมใคร่ครวญค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ว่าแท้จริงแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร? และสิ่งใดที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง

3. เรากำลังทำอะไร? เปิดให้ผู้ชมเข้ามาดูภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรง พร้อมกับตั้งคำถามกับสถานะ “ผู้ชม” เพื่อนำไปสู่การทบทวนท่าทีของตนที่มีต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น กระตุ้นเร้าให้ผู้ชมไม่นิ่งดูดายหรือเป็นเพียง “ผู้ชม” อีกต่อไป หากต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต.

 
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/event.php?eid=151003761635227&ref=notif&notif_t=event_invite