ไฟล์แนบ | ขนาดไฟล์ |
---|---|
พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526.pdf | 99.34 KB |
พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน(ฉบับที่ 3)พ.ศ.2554.pdf | 122.11 KB |
กลายเป็นข่าวดังมาช่วงหนึ่งที่รัฐบาลได้มีการเสนอให้เด็กตั้งแต่แรกเกิดต้องทำบัตรประชาชน แต่แล้วบทสรุปก็มาอยู่ที่เด็กอายุ 7 ขวบต้องทำบัตรประชาชน
อย่างนี้แล้ว ใครก็ตามที่มีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ ผู้ปกครองหรือตนเองจะต้องรีบไปทำบัตรประชาชนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีอายุครบ ทำให้ผู้ปกครองหลายท่านก็ยังเป็นกังวลและปวดเศียรเวียนเกล้า ว่าจะต้องรีบไปทำบัตรประชาชนให้ลูกตนหรือไม่ และจะมีความผิดอะไรบ้าง
กฎหมายฮาเฮ ตอนนี้จึงเสนอ เรื่องเด็กเจ็ดขวบต้องมีบัตรประชาชน
ซึ่ง พ.ร.บ.ประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 แก้ไขโดย พ.ร.บ.ประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 บัญญัติในมาตรา 5 ว่า “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้”
เด็กที่อายุเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน สิบห้าปี เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กนั้น ต้องพาเด็กไปทำบัตรประชาชน แต่ก็อย่าได้กังวลอะไรไปเลยครับ เพราะโทษที่จะได้รับหากผู้ปกครองไม่ได้พาเด็กไปทำบัตรตามระยะเวลาที่กำหนด คือ ปรับไม่เกิน 100 บาท ส่วนผู้ที่อายุเกิน 15 ปีแล้วไม่ได้ทำบัตรตามระยะที่กำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 100 บาทเช่นกัน แต่ผู้ปกครองไม่ต้องรับผิดแต่อย่างไร
ดังนี้ ผู้ปกครองก็ควรจะเลือกละกันนะครับว่าจะไปทำบัตรประชาชนให้เด็กฟรี หรือจะเสียค่าปรับ 100 บาท ก็แล้วแต่นะครับ
ยังไงก็หวังว่าเมื่อพาบุตรหลาน อายุ 7 ขวบไปทำบัตร ก็คงจะได้บัตรประชาชนแข็งๆ ทนๆ ติดมือกลับบ้านด้วยนะครับ เพราะถ้าเป็นกระดาษบางๆ สีเหลืองๆ เดี๋ยวลูกหลานเก็บไม่ดีมันจะยับจะขาดเอา
กฎหมายอย่างนี้ มีด้วยหรือนี่.........
ที่มาภาพ Robert Gaal
Comments
คิดว่ากฎหมายนี้เป็นการสร้างภาระให้แก่เด็ก และผู้ปกครองเป็นอย่างมาก รวมถึงงบประมาณที่รัฐต้องเสียไป ทั้งๆที่ผู้ใหญ่บางคนยังต้องใช้บัตรเหลืองอยู่เลย เห็นควรต้องปรับแก้เสียใหม่แล้ว
เปลืองงบประมณโดยใช่เหตุ