เวทีสาธารณะ: ใครละเมิดมาตรา 41? และ ทำไมไม่ทำข้อมูลผู้มีสิทธิและผู้มาใช้สิทธิแยกเพศหญิงชาย

โครงการเวทีสาธารณะ

"พลังสตรีพลิกโฉมเลือกตั้ง '54"  ครั้งที่ 1
ใครละเมิดมาตรา 41? และ ทำไมไม่ทำข้อมูลผู้มีสิทธิและผู้มาใช้สิทธิแยกเพศหญิงชาย"


วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2554 เวลา 10.00-12.30 น ณ สค.พม. (บ้านราชวิถี)
จัดโดย
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีปฏิรูปประเทศ สำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายฯ พม.
 

หลักการเหตุผล:
 
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ลงประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๘ ตอน ๓๖ ก รวม ๓เรื่อง แล้วและจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2554 ซึ่งบทบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญที่เป็นมิติใหม่ๆ ต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมาย กำกับพรรคการเมือง และ การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีนัยสำคัญต่อประเด็นสิทธิสตรีอยู่ด้วย ซึ่งปรากฎในมาตรา ๔๑ ดังนี้

"มาตรา ๔๑ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดจะเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองนั้นจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อ โดยมีหลักเกณฑ์ตามลำดับดังต่อไปนี้
 
(๑) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหลักฐานโดยชัดแจ้งจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว
 
(๒) ให้จัดทำบัญชีรายชื่อตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยจัดเรียงลำดับ รายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลขจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน
 
บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย"

โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมี
ตามอำนาจดำเนินการต่อการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายนี้ ตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 110 ดังนี้
“มาตรา ๑๑๐ ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองผู้ใดได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นบัตรเสียและมิให้นับเป็นคะแนน ทั้งนี้ เฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการกระทำนั้น
 
การกำหนดเขตพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดจากหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งก็ได้ โดยคำนึงถึงผลกระทบแห่งการกระทำนั้น"
 
นอกจากนั้น ในพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐ (๑๓) บัญญัติอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง "ประกาศผลการเลือกตั้ง ผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และผลการออกเสียงประชามติ" และในมาตรา ๒๓ บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้คั้งจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลักฐานทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ดังนี้
 
มาตรา ๒๓ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลักฐานทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แยกเป็นรายจังหวัดไว้เป็นประจำ
 
ทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิตรวจสอบและขอแก้ไขให้ถูกต้องได้

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจขอเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อนำมาดำเนินการจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรืออาจมอบหมายให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเป็นผู้จัดทำแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด"
 
"ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร"ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ในมาตรา 4 ที่ระบุไว้ในมาตรา 23 คือ "การทะเบียนราษฎร" หมายความว่า งานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร "ข้อมูลทะเบียน ประวัติราษฎร" หมายความว่า ข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับ ชื่อ ชื่อสกุล เพศ วันเดือนปีเกิดและตาย สัญชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา สถานะการสมรส วุฒิการศึกษา ชื่อบิดามารดาหรือผู้รับบุตรบุญธรรม ชื่อคู่สมรส และ ชื่อบุตร และข้อมูลอื่นที่จำเป็นเพื่อการดำเนินงานทะเบียนต่าง ๆ ในพระราช บัญญัตินี้"

ดังนั้น  "การจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลักฐานทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แยกเป็นรายจังหวัดไว้เป็นประจำ" ตามหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำจึงต้องจัดทำ "ข้อมูลตัวบุคคลที่แยกเพศ" เพื่อให้ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งระบุเพศ "หญิง" และ "ชาย" ด้วย
 
วัตถุประสงค์
 
1. เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ  เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ร่วมกับ คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีปฏิรูปประเทศ สำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อให้เครือข่ายองค์กรสตรีและภาคประชาสังคมได้ทำความเข้าใจในสาระสำคัญของข้อบัญญัติของว่าด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อ (มาตรา 41) และ การจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการประกาศผลการเลือกตั้ง ที่ระบุข้อมูลแยกเพศหญิงชายและร่วมกันแถลงจุดยืนและข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาดำเนินการต่อพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่ไม่คำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย ซึ่งถือว่าเป็นการจัดทำบัญชีรายชื่อที่ละเมิดบทบัญญัติในมาตรา 41 และการจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ การประกาศผลการเลือกตั้งได้ระบุข้อมูลแยกเพศไว้ด้วย
 
ประมาณการจำนวนผู้เข้าร่วม 40-50 คน
ประกอบด้วย 1. สมาชิกและผู้แทนจากองค์กรภาคี เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย
                  2. คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฎิรูปประเทศ
                  3  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์
                  4. ผู้สื่อข่าว นักวิชาการและประชาชนผู้สนใจทั่วไป
กำหนดการ
 
9.30-10.00   ลงทะเบียน
10.00-10.15 กล่าวต้อนรับและเปิดงานโดย คุณวันเพ็ญ  สุวรรณวิสิฏฐ์  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
10.15-11.30  เวทีสาธารณะ เรื่อง "พลังสตรีพลิกโฉมเลือกตั้ง '54" : ใครละเมิดมาตรา 41?  และกกต. ต้องจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลผู้มีสิทธิและผู้มาใช้สิทธิแยกเพศหญิงชาย"
นำเสนอโดย    คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูปประเทศ
                    ดร. สุธีรา วิจิตรานนท์       ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
                    รศ.วิระดา สมสวัสดิ์          ประธานศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
                    คุณวันเพ็ญ  สุวรรณวิสิฏฐ์  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย
                    ดร. กรวิภา วิลลาศ           นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
                    คุณสุนี ไชยรส                อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน และ ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
                    รศ. มาลี พฤกพงษ์สาวลี    ที่ปรึกษาโครงการสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                    ดร. เมทินี พงษ์เวช          ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
                    คุณอุษา เลิดศรีสันทัด      ผู้อำนวยการ มูลนิธิผู้หญิง
                    คุณสวาท ประมูลศิลป์       นายกสมาคมเพื่อความก้าวหน้าอาชีพของคนตาบอดแห่งประเทศไทย
                    คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง     หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
ดำเนินเวทีโดย ดร. สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย
11.30-12.30  แถลงข่าวจุดยืน "พลังสตรีพลิกโฉมเลือกตั้ง '54"
                   ประเด็นที่หนึ่ง การละเมิดมาตรา 41
                   ประเด็นที่สอง  กกต.ต้องจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลผู้มีสิทธิและผู้มาใช้สิทธิแยกเพศหญิงชาย"
12.30 น       ยุติรายการ