50,000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

50,000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อ 21 ก.ค. 2563
ไฟล์แนบขนาดไฟล์
แบบฟอร์มเข้าชื่อ เพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560.pdf73.62 KB
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ.pdf58.95 KB
คำอธิบายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา.pdf143.14 KB

 

 

สถานการณ์ทางการเมืองการปกครองในปี 2563 ภายใต้รัฐบาล “คสช.2" เข้าสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น กฎหมายที่เป็นฐานในการใช้อำนาจทางการเมืองเกือบทุกฉบับทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศและคำสั่ง คสช. ฯลฯ ต่างก็เขียนขึ้นโดยคนของ คสช. เพื่อวางฐานอำนาจให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อได้ยาวนาน ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระแทบทั้งหมด ต่างก็มาจากระบบการคัดเลือกภายใต้อำนาจของ คสช.
 
ด้านกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ก็ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลด้วยความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ พร้อมข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้ที่อยู่ในอำนาจ ซึ่งหากรัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้ไข การเมืองก็จะเข้าสู่ทางตันที่ประชาชนต้องการเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจ แต่โครงสร้างทางกฎหมายช่วยค้ำยันไว้ ทำให้โครงสร้างส่วนบนไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนจริงๆ 
 
ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
 
หนทางที่จะรื้อถอนอำนาจของ “ระบอบ คสช.” และสร้างโอกาสเพื่อกลับสู่ “ประชาธิปไตย” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เท่านั้น โดยทุกท่านก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ผ่านการลงชื่อตามจุดตั้งโต๊ะของไอลอว์ หรือส่งไปรษณีย์จากทางบ้าน ด้วยวิธีการดังนี้
 
 
วิธีการมีส่วนร่วมเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทางบ้าน
 
 
 
2. กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มหมายเลข 7 ให้ครบถ้วน 
 
3. แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือ สำเนาบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ พร้อมเซ็นสำเนาให้ถูกต้อง และขีดคร่อมว่า
 
    “ใช้เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น”
 
4. ตรวจสอบลายเซ็นต์ลงชื่อบน "เอกสารหมายเลข 7" และ "สำเนาบัตรประชาชน" ให้เหมือนกัน
 
5. ส่งเอกสารทั้งหมดมายัง ตู้ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
 
สำหรับคนไทยในต่างประเทศ สามารถส่งมาได้ที่
P.O. Box 79, Samsen Nai Post Office, Phyathai, Bangkok, Thailand, 10400

ทั้งนี้ ไม่ต้องระบุชื่อผู้รับ จะส่งมากันหลายคนในซองเดียวกันก็ได้โดยเย็บแยกเป็นรายคนมา และให้ส่งโดยบริการของไปรษณีย์ไทย อย่าส่งโดยบริการเอกชนรายอื่น เพราะจะมีปัญหาในการรับเอกสาร เนื่องจากจุดรับเอกสารเป็นบริการของทางไปรษณีย์ไทย และสามารถส่งแบบธรรมดา โดยไม่ต้องเป็นไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ก็ได้

 

คำแนะนำในการกรอกเอกสารหมายเลข ๗

1. การลงชื่อจะใช้ลายเซ็น หรือเขียนตัวบรรจงก็ได้ แต่ต้อง เหมือนกันทั้งบนเอกสารหมายเลข ๗ และสาเนาบัตร ประชาชน 
2. การลงลายมือชื่อ ต้องลงลายมือชื่อเองที่แท้จริง จะให้คนอื่นลงชื่อแทนไม่ได้ และจะใช้วิธีสแกนเอกสารส่งทางออนไลน์ หรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใดๆ ไม่ได้
3. ในส่วนชื่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่เขียนว่า “(ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....” ไม่ต้องกรอกข้อความใด
4. ในส่วนบนของเอกสารหมายเลข ๗ ที่เขียนว่า “เขียนที่ ...” นั้นให้กรอกที่อยู่หรือสถานที่ที่กรอกแบบฟอร์มนี้ซึ่งเป็นที่ใดก็ได้ตามความเป็นจริง จะเขียนย่อๆ เพื่อให้พอดีกับเนื้อที่ที่มีก็ได้
 
คำแนะนำในการถ่ายสำเนาบัตรประชาชน
 
1. การถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ถ่ายหน้าแรกหน้าเดียวก็ได้ บัตรที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้
2. หากไม่มีบัตรประชาชน สามารถใช้บัตรอื่นที่ราชการออกให้ และมีหมายเลข 13 หลักก็ได้ เช่น ใบขับขี่ บัตรข้าราชการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
3. ในเอกสารสำเนาบัตรต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง จะใช้ลายเซ็น หรือเขียนตัวบรรจงก็ได้ แต่ต้องเหมือนกันทั้งบนเอกสารหมายเลข ๗ และสำเนาบัตรประชาชน 
4. การขีดคร่อมในสำเนาบัตรประชาชน มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้มีคนแอบอ้างเอาสำเนาบัตรไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น จะไม่ขีดคร่อมเลยก็ได้ หรือถ้าต้องการขีดคร่อมให้ขีดคร่อมทับส่วนที่เป็นข้อความของบัตร ไม่ใช่ขีดคร่อมบนพื้นที่ว่าง และจะเขียนข้อความใดก็ได้ให้เข้าใจว่า ใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ เช่น
“ใช้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น”
“ใช้เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข” 
 
หรืออาจจะเขียนเต็มๆ ได้ว่า
“เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....(นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) เท่านั้น”
 
 
 
แม้ว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 256 กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่าง “ผิดปกติ” คือ แก้ไขยากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง และในบางประเด็นยังต้องผ่านการทำประชามติ แต่ก็ยังเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าชื่อกันให้ครบ 50,000 คนได้ ประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ช่องทางเท่าที่มีอยู่ส่งเสียงและความต้องการให้เต็มที่
 
ไอลอว์ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน พร้อมใจกันเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ยกเลิก 5 แก้ไข
 
เพื่อ
รื้อ ระบอบอำนาจของ คสช. 
สร้าง หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย
และเปิดทางให้เกิดการ ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ตามข้อเสนอ ดังนี้
 
ยกเลิก 1 ปิดทาง ‘นายกฯ คนนอก’
ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างที่ยังมีวุฒิสภาชุดพิเศษ ของ คสช. เป็นเสียงสำคัญในการลงมติ
 
ยกเลิก 2 บอกลา ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’
ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน / นโยบายรัฐบาล / การทำงานของหน่วยงานราชการ ต้องเป็นไปตามแผนการนี้
 
ยกเลิก 3 ไม่ต้องมี ‘แผนปฏิรูปประเทศ’
ยกเลิก หมวด 16 การปฏิรูปประเทศด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตาม / เสนอแนะ / เร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ
 
ยกเลิก 4 ผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ
ยกเลิกมาตรา 252 ที่กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดย ‘วิธีอื่น’ นอกจากการการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น เพื่อกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติ
 
ยกเลิก 5 พังเกราะคุ้มครอง คสช.
ยกเลิกมาตรา 279 ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัว ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของคสช ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป
 
 
แก้ไข 1 นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.
ตัดระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็นส.ส.เท่านั้น
 
แก้ไข 2 ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ 200 คนและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540
 
แก้ไข 3 แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรตรวจสอบ
ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระจากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนของ คสช. ทั้ง 7 ฉบับ 10 ฉบับ? ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกกต. ชุดใหม่ โดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540 
 
แก้ไข 4 ปลดล็อคกลไกแก้รัฐธรรมนูญ
ตัดอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การแก้ไขอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน ไม่บังคับต้องทำประชามติ
 
แก้ไข 5 เปิดทางตั้ง สสร. ร่างใหม่ทั้งฉบับ
ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. 200 คน เป็นรายบุคคลหรือเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ ประชาชน 1 คนเลือก สสร. ได้เพียง 1 คนหรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สสร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน