เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 54 ในกิจกรรมการรับน้องของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักศึกษากลุ่มหนึ่งชูป้ายประท้วงที่เขียนว่า "ไม่เอา staff เผด็จการ" เพื่อต่อต้านกิจกรรมรับน้องที่รุ่นพี่มักใช้อำนาจบังคับเพื่อให้รุ่นน้องกระทำสิ่งต่างๆ จากการประท้วงทำให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวถูกตะโกนโห่ไล่ว่า "ออกไปๆ" และมีคนถ่ายวิดีโอมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ Youtube ซึ่งแพร่กระจายในโวเชียลเน็ตเวิรคเช่น Facebook (ปัจจุบันคลิปดังกล่าวถูกลบออกจากYoutubeแล้ว)
ผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง จึงร่วมกันระดมชื่อใน "จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสาคามและสังคมไทย เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการรับน้อง / ห้องเชียร์" เพื่อสนับสนุนนักศึกษาผู้ประท้วงครั้งนี้ โดยเห็นว่ากิจกรรมรับน้องลักษณะดังที่ปรากฏในคลิปนั้น มาจากระบบคิดแบบโซตัส หรือรุ่นพี่เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้ใช้ความรุนแรงอย่างเสรีปลอดจากความรับผิดชอบ
.....................
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งถูกเผยแพร่ทางยูทูปตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2554 ระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์ในคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2554 นั้น พวกเรา กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในประเด็นนี้ ต้องการแสดงความวิตกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ และต้องการให้กำลังใจกับกลุ่มนักศึกษาเสียงข้างน้อยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในการแสดงความเห็นตามวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยและสันติวิธี
พวกเราทุกคนตามรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ รู้สึกหดหู่และสะท้อนใจกับสิ่งที่นักศึกษาส่วนใหญ่กระทำกับนักศึกษาผู้ประท้วงกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกับทัศนคติและท่าทีของผู้จัดกิจกรรมที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้ประท้วงได้ทำการชี้แจงและ/หรือเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้างกับนักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด
พวกเราทุกคนมีความเชื่ออย่างมั่นคงและจริงใจว่ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานศึกษาขั้นสูงต้องเป็นพื้นที่ที่สมาชิกทุกคนได้รับการประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขั้นพื้นฐาน และควรเป็นสถานที่บ่มเพาะและขัดเกลาให้เชื่อมั่นและยึดถือในคุณค่าประชาธิปไตยและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมของทุกคน ไม่ใช่สถานที่บ่มเพาะและปลูกฝังให้ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจที่ไร้ความชอบธรรมหรือการบังคับกล่อมเกลาให้ฝักใฝ่ในระบบเผด็จการอำนาจนิยม รวมทั้งระบบอุปถัมภ์แบบจารีต ซึ่งสวนทางกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง หรือหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาจนอาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอัน “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือ “ลบหลู่” ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากข้อโต้แย้งหรือคำอธิบายของผู้จัดกิจกรรมตามที่ได้ประจักษ์จากวิดีโอนี้ พวกเราจึงเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมการรับน้องแบบนี้จะยังเกิดขึ้นต่อไปในสถานศึกษาทุกแห่งตามที่เคยได้ปฏิบัติกันมา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและค่านิยมของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวนิสิตนักศึกษาเอง
ถึงแม้พวกเราจะเชื่อว่ากิจกรรม “รับน้อง” ที่ถูกออกแบบจากวิธีคิดดังกล่าว ในนามของระบบ “โซตัส” จะเป็นกิจกรรมที่ ไม่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างเสรี ปลอดจากความรับผิดชอบและไม่ควรจะได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นต่อไปอีกนั้น แต่พวกเราก็ไม่เชื่อมั่นเช่นกันว่าการบังคับออกคำสั่งจากผู้บริหารสถานศึกษาหรือการกำหนดบทลงโทษกับนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่จะทำให้ระบบการศึกษาไทยหลุดพ้นจากวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมไปได้
พวกเรากลับเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องเกิดจากความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนักศึกษาทั้งระบบ รวมถึงการตระหนักรู้ต่อความอันตรายและผลกระทบเชิงอุดมการณ์ของระบบ “โซตัส” นี้จากสังคมไทยเองด้วย สุดท้าย พวกเราขอให้กำลังใจกับนักศึกษาผู้ประท้วงในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและ/หรือผู้ใดก็ตามที่เชื่อมั่นในแนวทางเดียวกันและกำลังสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาของไทยหลุดพ้นจากค่านิยมและทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเช่นนี้
อ่านสัมภาษณ์และดูคลิปได้ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35345
ยอมรับการรับน้องทุกรูปแบบ เพราะเป็นประเพณีของแต่ละสถาบัน
7% (31 votes)
รับน้องได้ ไม่เอาความรุนแรง
8% (35 votes)
รับน้องได้ ไม่เอาความรุนแรง ไม่เอาระบบโซตัส
11% (47 votes)
รับน้องได้ ไม่เอาความรุนแรง ไม่เอาระบบโซตัส ไม่เอากิจกรรมทะลึ่ง
17% (78 votes)
รับน้องได้ มีเฉพาะกิจกรรมสนุกสนาน สานสัมพันธ์
19% (84 votes)
รับน้องได้ แต่มหาวิทยาลัยต้องเข้ามากำกับดูแล
4% (20 votes)
ไม่ควรรับน้องเลย
10% (44 votes)
รับน้องได้ แต่ต้องโดยสมัครใจ และไม่ติดใจกับน้องที่ไม่เข้าร่ว
24% (108 votes)
คนโหวตทั้งหมด: 447 คน