ตำรวจเยอรมนียอมรับ ใช้โทรจัน R2D2 สอดแนมประชาชนจริง
ชมรมคอมพิวเตอร์เคออส (Chaos Computer Club: CCC) ในเยอรมนีประกาศทางเว็บไซต์ ccc.de เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2554 ว่าได้ทำวิศวกรรมย้อนรอยซอฟต์แวร์ “ดักรับข้อมูลอย่างถูกกฎหมาย” ตัวหนึ่งซึ่งใช้โดยตำรวจเยอรมนี และพบว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าว ไม่ได้ถูกออกแบบมาตามข้อกำหนดที่ประกาศโดยศาลรัฐธรรมนูญกลาง
CCC พบว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าว ไม่เพียงสามารถส่งข้อมูลที่ถูกดักไปให้เครื่องอื่น แต่ยังมีความสามารถที่อนุญาตให้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นเข้ามาควบคุมและสั่ง การคอมพิวเตอร์ที่ติดซอฟต์แวร์ดังกล่าวด้วย อีกทั้งความผิดพลาดในการออกแบบและสร้างซอฟต์แวร์ทำให้ใครก็ตามในอินเทอร์ เน็ตสามารถใช้ความสามารถดังกล่าวได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวข้ามเส้นไปจากที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ เฉพาะการดักฟังโทรศัพท์อินเทอร์เน็ต
บล็อก Naked Security รายงานว่านอก จากซอฟต์แวร์ม้าโทรจันที่พบนี้จะสามารถติดต่อได้ทางแฟ้มแนบในอีเมลหรือลิงก์ ไปยังเว็บไซต์แล้ว มันอาจจะถูกติดตั้งลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องสงสัยระหว่างที่ คอมพิวเตอร์กำลังผ่านด่านพิธีศุลกากร โดยยกกรณีที่เกิดขึ้นแล้วในสนามบินมิวนิก
กฎหมายเยอรมนีอนุญาตให้ติดตั้งซอฟต์แวร์โทรจันลงในเครื่องของผู้ ต้องสงสัยว่าจะเป็นอาชญากรได้ เพื่อดักฟังโทรศัพท์อินเทอร์เน็ต ถ้ามีเหตุจำเป็นเพียงพอ แต่ต้องทำภายใต้ข้อกำหนดและการควบคุมที่เคร่งครัด เช่นเดียวกับการดักฟังโทรศัพท์ปกติ
โฆษกของสำนักงานสอบสวนกลางปฏิเสธว่าซอฟต์แวร์ม้าโทรจัน R2D2 ไม่ได้เป็นของรัฐบาล อย่างไรก็ตามบันทึกช่วยจำในปี 2008 ที่รั่วมาทางวิกิลีกส์ก็แสดงให้เห็นว่าบริษัทชื่อ DigiTask ได้พัฒนาซอฟต์แวร์แบบดังกล่าวให้กับตำรวจเยอรมนี
สำนักข่าว DW-World รายงานว่า รัฐบาเยิร์น, บาเดน-เวือร์ทเทมแบร์ก, บรันเดนบูร์ก, และ นีเดอร์ซัคเซิน ยอมรับว่ามีการใช้ม้าโทรจัน R2D2 “ภายใต้ข้อกำหนดที่กฎหมายให้ไว้” แต่ได้ละเลยที่จะพูดถึงสิ่งที่ CCC ค้นพบว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวสามารถทำได้มากกว่าการดักฟังโทรศัพท์ และละเมิดกฎหมาย
รัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐบาเยิร์นสัญญาว่าจะดำเนินการพิจารณาการใช้ ซอฟต์แวร์ดังกล่าว เพื่อรับประกันให้แน่ใจว่ามันเป็นไปตามข้อกำหนดการดักฟังที่ต้นทาง “Quellen-TKÜ” ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกลางของเยอรมนีได้ตัดสินในปี 2008 ในขณะที่รัฐมนตรียุติธรรมของรัฐบาลกลาง ได้สั่งการให้มีการสอบสวนเรื่องดังกล่าวร่วมกันระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นและ รัฐบาลกลาง
ที่มา มายคอมพิวเตอร์ลอว์
“เจ้ากรมเซ็นเซอร์สื่อพม่า” เรียกร้องให้รัฐบาลยุบหน่วยงานของตนเพื่อเสรีภาพสื่อ
สถานีวิทยุเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia – RFA) รายงาน เมื่อ 7 ต.ค. ว่า นายทิน ส่วย (Tint Swe) ผู้อำนวยกรมพิจารณาและลงทะเบียนสื่อ (Press Scrutiny and Registration Department - PSRD) ของรัฐบาลพม่า หน่วยงานหลักของประเทศพม่าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมและเซ็นเซอร์สื่อ กล่าวว่าหน่วยงานที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบควรถูกยุบหน่วยงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโดยรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่
และนายทิน ส่วย ยังกล่าวด้วยว่า หนังสือพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ ควรยอมรับเสรีภาพสื่อพร้อมๆ กับการมี “ความรับผิดชอบ”
สำหรับกรมพิจารณาและลงทะเบียนสื่อ (PSRD) ถูกจัดตั้งขึ้นมากว่า 4 ทศวรรษนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครองในประเทศ และต่อมาได้ยกเลิกข้อบังคับเข้มงวดต่อการทำงานของสื่อมวลชน นับตั้งแต่รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีเต็งเส่งเข้ามามีอำนาจในปีนี้ ภายหลังจากรัฐบาลทหารพม่าซึ่งถูกกล่าวหาอย่างหนักในเรื่องการละเมิดสิทธิ มนุษยชนได้จัดการเลือกตั้งเมื่อ 7 พ.ย. ปีที่แล้ว
สำหรับระเบียบก่อนหน้านี้ สิ่งพิมพ์ทุกชนิดในพม่าจะต้องส่งต้นฉบับมายังกรม PSRD เสีย ก่อน ต่อมา หลังจากวันที่ 10 มิ.ย. เป็นต้นมากรมดังกล่าวอนุญาตให้สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับประเด็นข่าวบันเทิง กีฬา เทคโนโลยี สุขภาพ และเด็ก ทำการ ‘เซ็นเซอร์ตัวเอง’ โดยให้บรรณาธิการของสิ่งพิมพ์นั้นๆ ลบข้อความที่ละเอียดอ่อนออก แทนวิธีการเดิมที่ให้ส่งต้นฉบับมายังกรม
ขณะที่สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและประเด็นอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าละเอียด ยังคงต้องส่งต้นฉบับมายังกรม PSRD ตรวจสอบเสียก่อน
นายทิน ส่วย กล่าวด้วยว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมก่อนที่สิ่งพิมพ์ทั้งหลายจะ “เป็น อิสระจากการเซ็นเซอร์ทั้งหมด” และเป็นครั้งแรกที่เอกชนจะได้รับอนุญาตให้ผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน ภายใต้กฎหมายสื่อมวลชนฉบับใหม่ ซึ่งร่างของกฎหมายดังกล่าวกำลังจะเข้าสภา
ในการสัมภาษณ์กับวิทยุ RFA นายทิน ส่วย กล่าวด้วยว่าหนังสือพิมพ์ยังได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับผู้นำ ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างนางออง ซาน ซูจี โดยไม่มีการใช้ข้อห้ามที่ถูกกำหนดขึ้นก่อนหน้านี้โดยรัฐบาลทหาร
ทั้งนี้เมื่อเดือนก่อน นิตยสารรายสัปดาห์ “Messenger” ถูกยกเลิกการจำหน่ายเป็นเวลาสองสัปดาห์ เนื่องจากตีพิมพ์ภาพออง ซาน ซูจีที่หน้าปก
“แต่ตอนนี้ ไม่มีข้อห้ามเรื่องการรายงานข่าวกิจกรรมของออง ซาน ซูจี และคาดว่าเสรีภาพน่าจะเพิ่มมากขึ้นภายในเร็ววันนี้ ขณะที่ประเทศก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีประชาธิปไตย” เขากล่าว
เมื่อเดือนที่แล้วเช่นกัน เจ้าหน้าที่พม่าได้ยกเลิกการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ เว็บไซต์ข่าวของสื่อมวลชนพม่าที่อยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งเว็บไซต์ยูทิวป์ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน (Committee to Protect Journalists - CPJ) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเฝ้าระวังสถานการณ์สื่อในพม่ายังคงระบุว่าพม่ายกคงเป็นประเทศที่ เซ็นเซอร์สื่อขนาดใหญ่ และเข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 14 คน ถูกจับกุม
โดยในจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมมี "ซิตตู่ เซยะ" ช่างภาพสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยพม่า ซึ่งเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลพม่าได้เพิ่มโทษจำคุกเขารวมเป็นเวลา 18 ปี หลังรายงานข่าวเหตุระเบิดกลางเมืองย่างกุ้ง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีก่อน ขณะที่พ่อของเขา "หม่อง หม่อง เซยะ" ก็ถูกศาลพม่าจำคุก 13 ปีเช่นกันในข้อหาติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นพม่าในประเทศไทย
ในรายงานของ CPJ เมื่อเดือนก่อนระบุว่ารัฐบาลยังคงดำเนินการ “ล่วงละเมิดอย่างเป็นระบบ, คว่ำบาตร, และควบคุมตัวสื่อมวลชน รวมทั้งต่อนักข่าวใต้ดินที่ทำงานให้กับสื่อมวลชนพม่าในต่างประเทศ”
ที่มา ประชาไท
ปักหลักรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหน้าสภา เปิดทางตั้ง สสร. ยกร่างทั้งฉบับ
9 ต.ค.54 สภาประชาชนไทยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มเสื้อแดง นำโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (สนนท.) สมัชชาสังคมก้าวหน้า สหภาพครูแห่งชาติ กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 องค์กรเลี้ยวซ้าย ได้เปิดการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 โดยมีการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยเอกสารรณรงค์ระบุว่า สืบเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทิ้งมรดกพิษไว้หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ได้วางโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติและการบริหารจากองค์กรต่างๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังนั้น สภาประชาชนไทยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จึงรวมตัวจัดการรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้การจัดการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมรายชื่อเสนอร่างแก้ไข มีการจัดเวทีสภาอาชีพทุกวันพุธและพฤหัสบดี เวลา 18.30 – 20.00 น. และเวทีสำหรับประชาชนจากทุกกลุ่มอาชีพเพื่อปราศรัยถึงผลพวงของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สร้างปัญหาสารพัดให้กับชีวิตและปากท้องของประชาชนทุกวันศุกร์ และเสาร์ เวลา 18.30 – 22.00 น.
นอกจากนี้ยังได้ประกาศให้ประชาชนที่สนับสนุน สามารถลงชื่อและเสนอร่างแก้ไข ผ่านเครือข่ายในพื้นที่ หรือส่งมาที่ ตู้ ปณ.291 ปณ.ศ. ราชดำเนิน 10120 หรือ ส่ง SMS แสดงความคิดเห็น พิมพ์ VT1 เห็นด้วย, VT2 ไม่เห็นด้วย ส่งไปที่ 4712277
ที่มา ประชาไท
ศาลฎีกาสั่งจำชาวบ้านนักอนุรักษ์ "จินตนา แก้วขาว" 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
11 ตุลาคม 2554 เวลาประมาณ 09.15 น. ห้องพิจารณาคดี 6 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.3283/2546 ที่บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอบเม้นท์ จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด ฟ้อง จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ข้อหาบุกรุก รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ (กฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365)
คำพิพากษาตัดสินให้นางจินตนามีความผิดตามฟ้อง แต่จำเลยมอบตัวมีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 จากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2548 ลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ไม่รอลงอาญา จึงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ การพิจารณาคดีที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2546
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณี ชาวบ้านซึ่งคัดค้านโครงการไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 1,400 เมกกะวัตต์ ของบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอบเม้นท์ จำกัด ได้บุกรุกเข้าไปในบริษัทฯ ซึ่งขณะนั้นกำลังจัดงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปี ของโครงการโรงไฟฟ้า และร่วมกันใช้ของเน่าเสียสกปรกขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2544
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ ราว 300 คน ที่มาร่วมรับฟังและให้กำลังใจ นางจินตนา ได้ทยอยเดินทางจากศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปรอรับนางจินตนาที่เรือนจำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จากนั้น ในเวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อรถของศาลไปส่งนางจินตนาถึงที่เรียนจำฯ ชาวบ้านจึงลุกมาตั้งแถวเพื่อตบมือ และร้องเพลงต้อนรับ ขณะที่ชาวบ้านบางคนถึงกับหลังน้ำตา
ที่มา ประชาไท
‘ยูเอ็น’ ย้ำอีกครั้ง ไทยต้องแก้กฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ‘แฟรงค์ ลา รู’ (Frank La Rue) ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกแห่งสหประชาชาติ ส่งแถลงการณ์จากเจนีวา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ คอมพิวเตอร์ พร้อมเสนอตัวในการ ‘ร่วมมืออย่างสร้างสรรค์’ กับ ‘คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย’ เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) รัฐบาลไทยพึงมีพันธะผูกพันในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยสากลที่ระบุไว้ใน อนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งรับรองสิทธิของบุคคลในการเสาะหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูลและความคิดทุกประเภท
แฟรงค์ ลา รู กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทำให้จำเป็นต้องมีข้อจำกัดในบางสถานการณ์ที่จำเป็น เช่น การป้องกันสิทธิส่วนบุคคล และปกป้องความมั่นคงของชาติ แต่เขาชี้ว่า กฏหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ประกอบกับบทลงโทษที่สูงเกินความเหมาะสม จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิด้านเสรีภาพการแสดงออก ยังระบุว่า เขายินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ โดย “มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลไทย และคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ผู้ซึ่งมีหน้าที่ทำการปฏิรูปกฎหมายไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษย ชนสากล”
ทางไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้ โดยกล่าวว่ายังไม่ทราบเรื่อง จึงไม่สามารถให้ความคิดเห็นทั้งในนามส่วนตัวหรือคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายได้ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ ไม่ได้จำกัดแค่กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยมีศาสตราจารย์คณิต ณ นครเป็นประธาน และคณะกรรมการอีก 10 คนซึ่งมาจากการสรรหา ประกอบด้วย สุนีย์ ไชยรส, ไพโรจน์ พลเพชร, สมชาย หอมลออ เป็นต้น โดยมีหน้าที่ “เพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของ ประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย
ที่มา ประชาไท
Comments