อำนาจรัฐกับการชุมนุมสาธารณะ

อำนาจรัฐกับการชุมนุมสาธารณะ

เมื่อ 6 ต.ค. 2552

บทเรียนจากเหตุการณ์เดือนตุลาคมปี 2516 ปี 2519 และพฤษภาคม 2535 สอนให้สังคมไทยรู้ว่า การที่รัฐใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมของประชาชนเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ และจะนำไปสู่การสูญเสียความชอบธรรมของผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง

แต่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นแบบทดสอบทางความคิดที่ไม่ง่ายต่อสังคมไทยนัก เมื่อมีความคิดเห็นทางอุดมการณ์การเมืองที่หลากหลาย มีการชุมนุมประท้วงจากหลากหลายฝ่าย ที่ทั้งเพิ่มความถี่ และเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น
 
หลายคนในสังคมมองเห็นว่า สังคมในปัจจุบันกำลังอยู่ในความแตกแยก เพราะเพียงแค่เลือกพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน หรือมีรสนิยมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ถูกนิยามกลายเป็นเรื่องดี ชั่ว และผลกระทบก็คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกละเลย การออกมาชุมนุมแต่ละครั้งมีทั้งความชอบธรรมและความเกลียดชัง
 
คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งที่เคยเชื่อในเรื่องเสรีภาพการแสดงออก เคยมีจุดยืนที่แน่วแน่ว่าการที่รัฐใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุมเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ มาวันนี้ความหนักแน่นในแนวคิดเหล่านั้นกลับอ่อนกำลังลง และเริ่มรู้สึกยินดีที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมบ้าง เพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
 
หรือความขัดแย้งในการเมืองไทย สร้างมาตรฐานใหม่ให้การชุมนุมในที่สาธารณะไปเสียแล้ว ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีแค่มาตรฐานเดียว
 
ที่ผ่านมาพบว่า การชุมนุมของประชาชนหลายครั้งต้องเผชิญกับปลายทาง ด้วยการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนทั่วไป ที่ให้ไฟเขียวต่อการปราบปรามการชุมนุม ดังเช่น
 
เหตุการณ์วันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมบริเวณหน้าบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล..เปรม ติณสูลานนท์
 
เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเปิดทางเข้าออกบริเวณหน้ารัฐสภา
 
เหตุการณ์วันที่ 13 เมษายน 2552 เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและบริเวณใกล้เคียงหลายจุด มีการใช้อาวุธปืนเอ็ม16ยิงขู่ และใช้กระสุนกระดาษยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อสลายการชุมนุม
 
และระยะหลังนี้ ไม่ต้องรอให้เกิดสถานการณ์การชุมนุม แต่ก็มีกรณีที่รัฐบาลชิงประกาศล่วงหน้าว่า เตรียมใช้เครื่อง LRAD หรือเครื่องขยายเสียงระยะไกล ในช่วงก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ครบรอบ 3 ปีการรัฐประหาร ที่แย่ไปกว่านั้น ก่อนจะถึงวันชุมนุมดังกล่าว ในวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา เครื่อง LRAD นี้ก็ได้แสดงพลังของมัน โดยตำรวจนำมาใช้ในการชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้าง บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อสลายการชุมนุม
 
ประสบการณ์เหล่านี้แสดงให้สังคมรู้สึกว่า แนวโน้มการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ดูจะเน้นที่การนำอาวุธมาใช้จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม มากกว่าการประสานเจรจา การใช้ความอดทนและเข้าใจบนฐานของการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
 
ประเด็นที่สาธารณะชนให้ความสนใจมากขึ้น จึงมีทั้งเรื่องอาวุธที่อยู่ในมือรัฐ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐและวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติ และประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ วิธีการแบบใดที่สามารถกระทำได้
 
ที่มาภาพ : murplejane
 
 
เครื่องมือหรืออาวุธของเจ้าหน้าที่ที่นำมาใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุม
 
แก๊สน้ำตา เป็นอาวุธที่พบเห็นบ่อยในการใช้สลายการชุมนุม แก๊สน้ำตามีหลายประเภท ผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาจะมีอาการน้ำตาไหล น้ำมูกไหล มองไม่ชัด ระคายเคือง อาเจียน ถ้าสัมผัสปริมาณมาก อาจถึงขั้นตาบอดได้ คนทั่วไปไม่สามารถทนอยู่ในบริเวณที่มีแก๊สน้ำตาได้ โดยทั่วไป เมื่อออกมาจากบริเวณที่มีแก๊สน้ำตา ประมาณ 1 ชั่วโมง อาการก็จะหายไปเอง จึงมองได้ว่าเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง เป็นเครื่องมือสลายการชุมนุมที่ใช้ทั่วไปในต่างประเทศ ในปัจจุบันมีทั้งแบบยิง และแบบขว้าง ซึ่งในประเทศไทยก็นำมาใช้ทั้งสองแบบ
 
สเปรย์พริกไทย นอกจากจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวแล้ว สเปรย์พริกไทยยังถูกนำมาใช้ในการควบคุมการชุมนุมด้วย แท้จริงแล้ว สเปรย์พริกไทยเป็นสารสกัดจากพริก ไม่ใช่พริกไทย ผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ทำให้ตาปิดและมองไม่เห็นเป็นเวลา 30-45 นาที แสบตา ทำให้หายใจยาก พูดยาก ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต หลังจากถูกสเปรย์พริกไทยประมาณ 45 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมงอาการจะหายไปเช่นกัน
 
กระสุนยาง เป็นอาวุธควบคุมการชุมนุมอีกชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยมานาน แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก กระสุนยางใช้ยิงผ่านปืนบางชนิด ถ้ายิงโดนบริเวณท้องหรือลำตัวจะทำให้จุก ถ้าโดนบริเวณกระดูกอาจถึงขั้นกระดูกหัก และถ้าโดนกะโหลกศีรษะอาจทำให้กะโหลกศีรษะร้าวและอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นอาวุธอีกชนิดหนึ่งที่หลายประเทศใช้ในการปราบจราจล
 
 
เครื่อง LRAD เครื่องขยายเสียงระยะไกล เป็นอาวุธสงครามที่สหรัฐอเมริกาผลิตขึ้น ใช้ป้องกันเรือรบจากการโจมตีของเรือเล็ก ต่อมานำมาใช้เพื่อป้องกันการโจมตีของโจรสลัด และสหรัฐเคยนำมาใช้กับการควบคุมฝูงชนในอิรักด้วย LRAD มีลักษณะเป็นเครื่องขยายเสียง ใช้ในการประกาศ สื่อสารกับผู้ชุมนุม สามารถกำหนดทิศทางของเสียงได้ และสามารถส่งเสียงดังได้ถึง 151 เดซิเบล ซึ่งเป็นความดังที่ประสาทหูของคนทั่วไปจะรับไม่ได้ ผู้ที่อยู่ในระยะของเสียงจะเกิดอาการปวดแก้วหู คลื่นไส้ อาเจียน ทนไม่ไหว ต้องหลบให้พ้นจากแนวเสียง หากทนอยู่นานๆ อาจสูญเสียประสาทการได้ยินเป็นการชั่วคราวหรือถาวรได้
 
นอกจากที่กล่าวมา ในต่างประเทศยังมีอาวุธและอุปกรณ์อีกหลายชนิดที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับการควบคุมการชุมนุม เช่น ปืนไฟฟ้า ปืนถุงถั่ว ระเบิดกลิ่นเหม็น (Stink bomb) ระเบิดเสียง ปืนตาข่าย (Net gun) โฟมกาว (Gooey foam) สุนัขตำรวจ บางชนิดก็ได้รับการยอมรับให้ใช้ในการสลายการชุมนุมได้ บางชนิดก็ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ถึงผลกระทบว่าอาจจะรุนแรงเกินไป ซึ่งหากสถานการณ์การชุมนุมของไทยยังคงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เราอาจจะได้เห็นเครื่องมือชนิดใหม่ๆ ในประเทศไทยอีกก็เป็นได้
 
 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “การเข้าสลาย” การชุมนุม
ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการจัดการการชุมนุม โดยหลายฝ่ายเคยอยากเสนอให้มีการออกเป็นพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ อย่างไรก็ดี ด้วยกฎหมายที่มีอยู่ทุกวันนี้ มีกลไกกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐจัดการต่อการชุมนุมได้อยู่แล้ว ได้แก่
 
 
ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้ง
ปรับ
 
 
ในประมวลกฎหมายอาญา ได้ระบุความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดฐานมั่วสุมกันแล้วเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกรัฐบาลมักระบุว่าผู้ชุมนุมมีความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ จึงต้องใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งใช้ได้กับการชุมนุมแทบทุกรูปแบบ
 
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.. 2551
          มาตรา 108 ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่
        () เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน
        () แถวหรือขบวนแห่หรือขบวนใดๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด
          มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
 
 
...จราจรทางบก พ.. 2522 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินขบวนกีดขวางการจราจร และห้ามผู้ใดทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นการกีดขวางทางเท้า แต่จะเห็นว่า การชุมนุมตามท้องถนนแทบทุกกรณีก็เข้าข่ายการกีดขวางการจราจร หรืออย่างน้อยก็เป็นการกีดขวางทางเท้า เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีโทษเบาแต่เจ้าหน้าที่อาจใช้อ้างได้เสมอเพื่อการเข้าสลายการชุมนุม
 
พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ..2551
          มาตรา ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ภายในพื้นที่  ตามมาตรา ๑๕ ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

        () ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
        () ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด

 
 
เป็นกฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้นำมาประกาศใช้ก่อนมีการชุมนุมครั้งใหญ่ หรือมีเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดการชุมนุม เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ในท้องที่ใดมีผลให้อำนาจในการตัดสินใจ การควบคุมดูแลการชุมนุมของทุกองค์กรโอนมาเป็นของผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี โดยมีหน่วยงานของทหารอยู่ในอำนาจการบริหารงาน และมีอำนาจออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อควบคุมการชุมนุม
 
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ..2548
          มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
        (๒
) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้กฎหมายนี้ในท้องที่ที่มีเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย ปัจจุบันประกาศใช้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้อำนาจการแก้ไขสถานการณ์เป็นของนายกรัฐมนตรีผู้เดียวและนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหลายประการที่เพิ่มขึ้นจากกฎหมายในยามปกติ และอาจออกข้อกำหนดมาควบคุมการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนข้อกำหนดอื่นๆ ที่อาจเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้
 
หากว่าการชุมนุมครั้งใดเข้าข่ายผิดกฎหมายบทอื่นอีก เช่น มีการบุกรุกสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สิน ส่งเสียงดังรบกวน หมิ่นประมาทบุคคล หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะมีเหตุผลมากขึ้นในการเข้าสลายการชุมนุม แม้แต่ข้อหากบฎ ก็ยังเคยนำมาใช้
 
 
หลักสากลในการสลายการชุมนุม
กฎหมายต่างๆ ที่ยกมานี้ ทำให้ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ทุกครั้งที่มีความพยายามออกกฎหมายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมักบอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้มี “เครื่องมือ” ในการบริหารจัดการผู้ชุมนุม นั้น มีความจำเป็นจริงหรือ กฎหมายเท่าที่มีอยู่นี้ยังไม่เพียงพอจะเป็น “เครื่องมือ” ให้เจ้าหน้าที่ได้หรือ
 
แทนที่จะมองการออกกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่เป็นการมองจากฟากของรัฐว่าจะจัดการประชาชนอย่างไร ในทางตรงกันข้าม ฟากประชาชนต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายหาเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐที่จะมาควบคุมการชุมนุมให้มีมาตรฐาน
 
ในทางสากล แม้เรื่องนี้จะไม่ได้มีหลักสากลระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธะร่วม แต่ก็พอจะมีมาตรฐานของวิธีการที่นานาประเทศนำมาใช้และเป็นที่ยอมรับกัน
 
 
กล่าวโดยสรุป เจ้าหน้าที่จะดำเนินการสลายการชุมนุมได้ ขั้นแรกต้องเริ่มจากการเจรจาหาทางออกก่อน หากไม่สำเร็จเจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามคำสั่ง หรือเตือนก่อนว่าจะสลายการชุมนุม จากนั้นต้องแสดงพลังเพื่อส่งสัญญาณ เช่น การกระแทกกระบองกับโล่ให้เกิดเสียง ถ้าผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัวต้องประกาศเตือนอีกครั้งแล้วจึงสามารถเข้าสลายการชุมนุมได้ โดยต้องเริ่มจากมาตรการเบาก่อนแล้วค่อยๆ หนักขึ้น คือ ใช้รถฉีดน้ำก่อน ถ้าไม่สำเร็จผลค่อยใช้แก๊สน้ำตา ไม่มีข้อกำหนดให้ใช้อาวุธหนัก หรืออาวุธสงครามได้และหลังจากการสลายการชุมนุมเจ้าหน้าที่ต้องเข้าเคลียร์พื้นที่ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และเยียวยาความเสียหายด้วย
 
การชุมนุมสาธารณะ เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และแทบจะเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวที่ผู้มีอำนาจน้อยกว่าสามารถหยิบมาใช้ได้อย่างเสมอภาคกัน ขณะเดียวกันการแสดงออกผ่านการชุมนุมก็จำเป็นที่จะต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่น และไม่ละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย
 
การสลายการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการ อาวุธ เหตุผล และอาศัยกฎหมายที่ให้อำนาจแตกต่างกันไป ในแง่หนึ่งก็เป็นการกระทบสิทธิของผู้ชุมนุมเพราะไม่อาจทราบได้ว่าจะต้องพบกับการสลายการชุมนุมเมื่อไร อย่างไร และเพราะอะไร ซึ่งบรรยากาศความไม่มั่นคงเช่นนี้ บั่นทอนการแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยอย่างรุนแรง
 
เพราะฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรมีกรอบแนวทางหรือไม่และอย่างไร เพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมเองและคุ้มครองความสงบสุขของสังคม เงื่อนไขเช่นไรที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมได้ อาวุธอะไรที่จะนำมาใช้ได้ในแต่ละสถานการณ์ จะมีมาตรการใดที่ทำให้ผู้ที่เสียเปรียบอยู่แล้วไม่กลายเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำอีก
 
 
 
 
อ้างอิง
http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTIyMTE4Jm50eXBlPWNsaXA=

 

 

Comments

มา เ รี ย ม's picture
เห็นด้วยอย่างยิ่ง ว่าการสลายการชุมนุมจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง ควรมีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ให้ชัดเจน และจะต้องไม่ลืมว่าผู้ชุมนุมไม่ใช่ผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงเพียงแต่เป็นผู้ที่แสดงความคิดต่างเท่านั้น
มา เ รี ย ม's picture
การกำหนดเงื่อนไขต้องไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล แต่ต้องเป็นการกำหนดเงื่อนไขของฝ่ายภาครัฐเองที่จะต้องจำกัดการกระทำของตนเอง ไม่กระทำการใดๆที่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ
MON KK's picture
เห็นด้วยอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฏหมาย หรือ ผู้ชุมนุม จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันคือ...ไม่ใช้ความรุ่นแรงในทุกกรณีที่จะทำให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฏหมาย บาดเจ็บ พิการ และ ถึงแก่ความตาย...แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจริงนั้น ผู้บังคับใช้กฏหมาย หรือ ผู้ชุมนุม ต่างก็มีเป้าหมายของตนเอง (มีธง) ฉะนั้นการออกกฏหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความ คนอ่านออกเขียนได้ ไม่ต้องถึงนักกฏหมาย อ่าน แล้วเข้าใจเลย(ไม่ต้องแปรความอีก) จะช่วยได้มากขึ้น ผู้บริหารประเทศ(ชั่วคราว) จากมติมหาชน (รัฐบาล) จะต้องใส่ใจกับปัญหาของคนทุกกลุ่มให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึง ที่สำคัญ ไม่เลือกปฏิบัติ ใช้มาตรฐานเดียวกัน ใช้หลักนิติศาสตร์ และ รัฐศาสตร์ควบคู่กันอย่างมีเหตุผลเป็นข้อจริง ไม่มีข้อเท็จ ผมเชื่อว่าไม่มีใครต้องการออกมาชุมนุมหรอกครับ ถ้าปัญหาถูกใส่ใจให้ความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหา หรือ มีทางเลือกทางออกที่ดี และ มีส่วนร่วม มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการถ่วงดุลที่เป็นจริง เชื่อถือได้ (ที่สุด) เพราะการชุมนุมแต่ละครั้งมันเหนื่อยมาก...ร้อน...ฝน...หนาว..กินอยู่ลำบากไม่เหมือนบ้านหรอกครับ...ผู้มีประสบการณ์ชุมนุม