หลังจาก คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากสังคมอย่างกว้างขวางซึ่งโดยส่วนใหญ่ที่มีลักษณะต่อต้าน คัดค้าน ร่างกฎหมายฉบับนี้
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดงาน “อารยเสวนา ร่างพระราชบัญญัติมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ที่ห้องประชุมปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมีนักวิชาการ ศิลปิน และคณาจารย์สาขาศิลปะการละคร นาฏศิลป์และศิลปะการแสดงจากหลากหลายสถาบัน พร้อมทั้งตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
นักวิชาการ กังวล เนื้อหาในร่างฯ ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์
นักวิชาการจากหลายสถาบัน นำโดย ศ.ดร.นราพงษ์ จรัสศรี จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี และ ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความกังวลต่อร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวว่า หากเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ เนื้อหาในร่างที่ดูจะเน้นเรื่องการควบคุมมากกว่าการส่งเสริมสนับสนุน อาจจะสร้างความกลัวจนส่งผลให้ความเป็นอิสระและการสร้างสรรค์ของศิลปินหายไป

โดยผู้เข้าร่วมในที่ประชุมได้ยกตัวอย่าง การร้อง ‘เพลงฉ่อย’ ซึ่งในบางครั้งจะมีการสอนเรื่องเพศหากเป็นเช่นนั้นอาจตีความเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีได้หรือไม่ หรือการเล่น ‘หนังตะลุง’ ซึ่งเป็นปกติที่การแสดงนี้มักจะแสดงในลักษณะเสียดสีผู้ปกครองนั้นอาจหมายความได้หรือไม่ว่าการแสดงนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทังนี้เห็นได้จากมาตรา 39 และ 40 ที่บัญญัติไว้อย่างกว้างมาก