ฝ่ายกฎหมายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้ง True และ Dtac ต่างกังวลมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากนิยามของผู้ให้บริการกว้างมาก และกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีความผิดเท่ากับผู้กระทำ ข้อเสนอแก้ไขใหม่กลับสร้างปัญหาความทับซ้อนของกฎหมาย พร้อมชี้ Single Gateway ยังไม่ล้มเลิกไปแต่จะกลับมาในรูปแบบใหม่
งานเสวนา "ชีวิตออนไลน์ ไปทางไหนดี?" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ที่ร้าน NE8T ราชเทวี จัดขึ้นในโอกาสที่
ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช. นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และตัวแทนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงมาร่วมสนทนาเกี่ยวกับปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขกฎหมายตามที่ควรจะเป็น
อัครวิทย์ จงสวัสดิ์วรกุล ฝ่ายกฎหมายของบริษัท DTAC กล่าวถึง ปัญหาของมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการร่วมรับผิดในเนื้อหาที่ผิดกฎหมายว่า การส่งรับข้อมูลต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือในทุกวันนี้ ทำให้บริษัทมือถือกลายเป็นผู้ให้บริการ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 จึงมีผลกระทบมาถึงบริษัทโทรศัพท์มือถือ และบริษัทต้องมีความรับผิดต่อเนื้อหาไปด้วย โดยไม่มีการแยกประเภทว่า ผู้ให้บริการมีกี่แบบ
อัครวิทย์ กล่าวว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือนั้น ทำหน้าที่คล้าย "ท่อ" ที่ลำเลียงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริการะบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่เป็นท่อไม่ต้องรับผิดร่วมกับผู้ใช้บริการที่ไปละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่นบนอินเทอร์เน็ต กฎหมายของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ก็กำหนดไว้เช่นเดียวกัน
มาตรา 15 ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของไทย กำหนดบทลงโทษให้ผู้ให้บริการต้องรับโทษเท่ากับผู้โพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมายเอง ซึ่งถ้าเป็นความผิดอื่น ประมวลกฎหมายอาญาเขียนให้การเป็นผู้สนับสนุนไม่ต้องรับผิดเท่ากับผู้กระทำความผิดเอง (iLaw-ผู้สนับสนุนรับโทษ 2 ใน 3 ของผู้กระทำผิด) การที่กฎหมายเขียนไว้เช่นนี้ ทำให้บริษัทบริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ต้องวางมาตรการตั้งรับเพื่อไม่ให้ตัวเองมีความผิดไปด้วย เช่น ต้องจัดทีมคอยตรวจสอบ ต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนหนึ่ง แทนที่จะเอาเงินไปลงทุนกับการพัฒนางานบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างระบบ 5G ได้
ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 15 ตามร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ตามที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดให้ มีประกาศขั้นตอนการแจ้งเตือนให้ผู้ให้บริการปิดกั้นเนื้อหาก่อน และหากผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการแจ้งเตือนแล้วก็ไม่ต้องรับผิด อัครวิทย์เห็นว่า การเขียนแบบนี้ทำให้ หลักการพิสูจน์ความผิดเปลี่ยนจากผู้กล่าวหาต้องพิสูจน์ความผิดมาเป็นผู้ให้บริการมีความผิดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า ตัวเองไม่ผิด ซึ่งทำให้หลักการกลับด้านพอสมควร
ปัญหาอีกประการที่อัครวิทย์เห็น เกี่ยวกับขั้นตอนการแจ้งเตือน คือ การกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนให้ผู้ให้บริการปิดกั้นเนื้อหาจะไปขัดแย้งกับขั้นตอนบล็อคเว็บไซต์ ตามมาตรา 20 ซึ่งเดิมกำหนดให้การบล็อคเว็บไซต์ต้องขอคำสั่งจากศาลเสมอ การที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 กำหนดให้มีขั้นตอนแจ้งเตือนมายังผู้ให้บริการก่อนเช่นนี้ ก็จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องการปิดเว็บไซต์ สามารถใช้ช่องทางนี้แจ้งให้ผู้ให้บริการปิดกั้นเนื้อหาได้ โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาลตามมาตรา 20 อีก
ด้าน ศุภสรณ์ โหรชัยยะ ฝ่ายกฎหมายของบริษัท True เสริมว่า ในปัจจุบันนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบเว็บไซต์ผิดกฎหมายก็จะประสานงานมายังผู้ให้บริการเพื่อให้ปิดกั้นเนื้อหาอยู่แล้ว ซึ่งขั้นตอนแบบนี้ยังไม่มีกฎหมายรับรอง จึงนำไปสู่ข้อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ที่จะกำหนดให้มีขั้นตอนการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ เมื่อมีการกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนก็อาจช่วยพิสูจน์ได้ว่า ผู้ให้บริการรายใดจงใจสนับสนุนข้อความผิดกฎหมายจริงหรือไม่
ศุภสรณ์เห็นว่า ปัจจุบันเมื่อพูดถึงความรับผิดของผู้ให้บริการ ทุกคนอาจนึกถึงผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ อย่าง ทรู เอไอเอส ซึ่งหากดูคำนิยามตามกฎหมายแล้วไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะคำนิยามของ "ผู้ให้บริการ" รวมถึงทุกคนด้วย หากที่บ้านมีไวไฟและไม่ได้ใส่พาสเวิร์ด เมื่อมีคนอื่นมาใช้ไวไฟของเราโพสต์สิ่งผิดกฎหมายก็จะปรากฏว่า เป็นการโพสต์มาจากบ้านของเรา และเราอาจจะต้องมีความรับผิดตามกฎหมายไปด้วย โดยที่ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นผู้ให้บริการด้วย
ศุภสรณ์เล่าว่า ทุกวันนี้อำนาจ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 กำหนดให้ศาลสั่งบล็อคเว็บไซต์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือศีลธรรมอันดีได้ แต่ความจริงการบล็อคเว็บไซต์ไม่ได้จำกัดอยู่ในประเด็นเหล่านี้ ยังมีเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ การพนันออนไลน์ ซึ่งตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้ให้อำนาจในการบล็อคเนื้อหาเหล่านี้ แต่เจ้าหน้าที่ยังพยายามปิดเว็บไซต์เหล่านี้อยู่ทุกวัน และเมื่อยื่นคำร้องไปศาลก็ออกคำสั่งอนุญาตให้ปิดได้ เราเป็นผู้ให้บริการเมื่อมีคำสั่งศาลมาเราก็ต้องทำตาม เราเคยโต้แย้งในชั้นศาลโดยการขอร้องสอดเข้าไป แต่ศาลบอกว่าเราไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียด้วย
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตั้งแต่การขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ การเรียกมาสอบถาม ไปจนถึงการยึดหรืออายัด server ที่ผ่านมาบริษัท True ไม่เคยยอมให้เจ้าหน้าที่มาเข้าถึง server ได้เพราะจะกระทบลูกค้าหลายแสนคน แต่ก็ไม่ใช่ผู้ให้บริการทุกรายจะมีนักกฎหมายคอยดูแลเรื่องนี้และจะต่อรองกับเจ้าหน้าที่ได้ทุกครั้ง หลายรายก็ถูกอุ้ม server ไปจนต้องปิดกิจการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ควรใช้วิธีคัดลอกข้อมูลไปตรวจสอบหรือที่เรียกว่า forensic แต่ทางปฏิบัติตำรวจไม่ทำเพราะไม่อยากเก็บข้อมูลจำนวนมากของบริษัท และเมื่อเก็บข้อมูลไปแล้วก็จะมีการะในการวิเคราะห์ข้อมูล
ศุภสรณ์กล่าวว่า การบล็อคเว็บไซต์ที่เข้ารหัสก็ไม่สามารถบล็อคเนื้อหาเพียงบางส่วนได้ หากมีเนื้อหาบางส่วนผิดกฎหมายต้องใช้วิธีบล็อคทั้งเว็บไซต์ เช่น ถ้าอยากจะบล็อคเฟซบุ๊คของ A คนเดียว ไม่สามารถทำได้ สิ่งที่ทำได้คือ ต้องบล็อคเฟซบุ๊คทั้งหมด นอกจากนี้ ศุภสรณ์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า Single Gateway ที่รัฐบาลเคยพยามผลักดันนั้นไม่ได้ถูกล้มเลิกไป แต่จะกลับมาในรูปแบบใหม่