เว็บเสี่ยง “ปลิว” มากขึ้น, คดียัดข้อหาเกิดง่าย หากร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่าน

เว็บเสี่ยง “ปลิว” มากขึ้น, คดียัดข้อหาเกิดง่าย หากร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่าน

เมื่อ 28 พ.ย. 2559
 
เราได้เห็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับล่าสุดกัน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในครั้งนี้
 
ร่างฉบับที่เราเห็นกันล่าสุด ต่างจากร่างฉบับที่เคยเสนอต่อ สนช. ในเดือน เมษายน 2559 อยู่หลายมาตรา แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการที่ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทุกฉบับมุ่งไป คือ การเพิ่มอำนาจให้รัฐเข้ากำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และเมื่อผู้ใช้เน็ตหลายคนได้ทราบข่าวก็ตื่นตกใจในความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพราะเชื่อมือการทำงานเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะปกป้องศีลธรรมและความปลอดภัยให้ประชาชนได้
 
 
 
 
 
ลองอ่านข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างละเอียด และลองจินตนาการความเป็นไปได้แบบคิดในแง่ลบ หากร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ สถานการณ์ต่อไปนี้อาจจะเกิดขึ้นได้
 
 
1. เนื้อหาบนเว็บไซต์จะหายไปมากกว่าเดิม บรรยากาศการเถียงเรื่องหนักๆ บนโลกออนไลน์ถูกตัดตอน
 
ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื้อหาบนเว็บไซต์ต่างๆ อาจจะถูกเอาออกจากโลกออนไลน์ได้สองระดับ คือ
1) ระดับผู้ดูแลเว็บไซต์เอาออกเอง เนื่องจาก มาตรา 15 ใหม่ จะกำหนดให้ผู้ให้บริการมีความผิดเท่ากับคนโพสต์ ถ้าให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจ กับการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมาย แต่หากมีการแจ้งเตือนและผู้ดูแลเว็บไซต์ลบข้อความออกแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ไม่ต้องรับโทษ การเขียนกฎหมายเช่นนี้จูงใจให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ต้องหมั่นตรวจสอบการแจ้งเตือนและเมื่อได้รับการแจ้งเตือนให้ลบข้อความใดๆ ก็ต้องรีบลบออกทันที
 
นอกจากนี้ วิธีการและขั้นตอนการแจ้งเตือนถูกเขียนขึ้นในร่างประกาศกระทรวงดิจิทัล ข้อ 5(2) กำหนดให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ลบข้อมูลภายใน 3 วัน นับแต่ได้รับแจ้ง โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ใช้วิจารณญาณพิจารณาก่อนว่า ข้อความนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ และต้องลบออกหรือไม่
 
ร่างประกาศดังกล่าวกำหนดให้ผู้ดูแลเว็บไซต์สร้างขั้นตอนการแจ้งเตือนขึ้นมาเปิดช่องให้ผู้ใช้บริการทั่วไปแจ้งเตือนได้ จึงอาจเกิดสถานการณ์ที่ผู้ใช้บางคนไม่พอใจข้อมูลหรือความคิดเห็นของคนอื่นที่คิดเห็นต่างกัน หรือไม่พอใจที่ตนเองถูกวิจารณ์ ก็จะตัดตอนความเห็นต่างโดยการแจ้งให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ลบออก เมื่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้รับการแจ้งเตือนแล้วก็ย่อมต้องเลือกวิธีการลบออกไว้ก่อนเพื่อ "ความปลอดภัย" ของตัวเอง เพื่อจะไม่ต้องถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 15
 
สถานการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทางหนักๆ ที่สังคมมีความเห็นแตกออกเป็นหลายฝ่าย หรือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยประชาชน หรือโดยสื่อทางเลือก เกิดได้ยากขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์
 
2) ระดับเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นโดยขอหมายศาล ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ที่เจ้าหน้าที่จะสั่งปิดได้ ต้องมีเนื้อหาที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี และต้องขออนุญาตจากศาลเพื่อสั่งปิด หากเป็นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายอื่น เช่น เว็บละเมิดลิขสิทธิ์ เว็บเล่นพนันออนไลน์ เว็บขายยาปลอม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้ให้อำนาจสั่งปิดเว็บไซต์เหล่านั้นด้วย
 
ตามร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ปิดเว็บไซต์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ และเว็บไซต์ที่ละเมิดกฎหมายอื่นๆ ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีได้ ซึ่งจุดมุ่งหมายอาจรวมถึง เว็บไซต์การพนัน หรือการหลอกลวงประชาชน แต่การเขียนหลักเกณฑ์ด้วยถ้อยคำกว้างๆ ย่อมเสี่ยงต่อการตีความเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลต่างๆ ได้อีกหลายประเด็น
 
นอกจากนี้ มาตรา 20/1 ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง 5 คน ขึ้นมาพิจารณาปิดเว็บไซต์ที่อาจจะไม่ได้ผิดกฎหมายอะไรเลย แต่คณะกรรมการเห็นว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีได้ ซึ่งยิ่งจะขยายขอบเขตเว็บไซต์ที่อาจถูกปิดกั้นออกไปให้กว้างขวางมากขึ้นอีก เช่น การวิจารณ์พระสงฆ์ การให้ข้อมูลเรื่องยุติการตั้งครรภ์ การจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล ฯลฯ จนมองไม่เห็นขอบเขตของเนื้อหาที่อาจจะถูกสั่งให้ลบ
 
 
2. การฟ้องคดีเพื่อ "ปิดปาก" การตรวจสอบรัฐจะไม่หมดไป แต่จะเพิ่มมากขึ้น
 
ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) กำหนดห้ามโพสต์ข้อมูลเท็จ กลายเป็นกฎหมายที่ถูกเอามาใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาท เพื่อปิดปากนักเคลื่อนไหวทางสังคม และสื่อมวลชนที่จะตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นคดีความกันมากมาย ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มคำว่า “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง” เข้ามาในมาตรา 14(1) โดยผู้ร่างยืนยันว่า การเขียน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แบบนี้จะนำมาใช้ฟ้องหมิ่นประมาทไม่ได้แล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงการฟ้องคดีก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากผู้ฟ้องคดีมีเงินจ้างทนายความ ส่วนศาลจะตัดสินอย่างไรก็เป็นภาระของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องต่อสู้ดิ้นรนกันไป
 
แต่ขณะเดียวกัน ผู้ร่างกลับเพิ่มข้อความในมาตรา 14(2) กำหนดห้ามโพสต์ข้อมูลที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อ “ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งถ้อยคำเหล่านี้ล้วนมีความหมายกว้างและเปิดให้ผู้ใช้ตีความได้หลากหลาย หากอ่านผ่านๆ อาจเห็นว่ามาตรานี้เขียนไว้เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดแล้ว การโพสต์ “ข้อความ” บนโลกออนไลน์ที่ไม่ใช่การเจาะระบบหรือโจมตีระบบไม่น่าจะสร้างความเสียหายต่อความปลอดภัย การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานได้
 
ในทางกลับกัน คำว่า "การบริการสาธารณะ" ย่อมครอบคลุมกิจการของรัฐทุกประเภท ทั้งการจัดการศึกษา สาธารณะสุข การสร้างถนน การสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า งานของตำรวจ ฯลฯ การเขียนกฎหมายเช่นนี้จึงทำให้การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐอาจถูกดำเนินคดีเพื่อปิดปากด้วยมาตรา 14(2) ได้ง่ายกว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับเดิมเสียอีก
 
 
3. เปิดช่องให้กลั่นแกล้งยัดข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กันได้ง่ายขึ้น
 
มาตรา 16/2 ของร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดว่า ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ศาลสั่งให้ทำลาย รู้แล้วว่าศาลสั่งให้ทำลายแต่ไม่ยอมทำลาย จะมีความผิด ในทางทฤษฎีหากคนที่ครอบครองข้อมูลพิสูจน์ได้ว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าศาลมีคำสั่งให้ทำลาย คนนั้นย่อมไม่มีความผิด เพราะไม่มีเจตนา แต่ในทางปฏิบัติคงไม่มีใครติดตามฟังคำพิพากษาของศาลทุกคดีเพื่อจะรู้ว่าต้องลบข้อมูลใดออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์บ้าง และการจะพิสูจน์ว่ารู้หรือไม่รู้ย่อมต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล ซึ่งหมายความว่าต้องถูกฟ้องร้องต่อศาลก่อนจึงจะมีโอกาสพิสูจน์
 
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีใดก็ตาม หลายครั้งเจ้าหน้าที่จะยึดโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบก่อนว่ามีข้อมูลใดผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ผ่าน เจ้าหน้าที่ย่อมมีความชอบธรรมมากขึ้นที่จะตรวจสอบดูว่า คนที่ถูกจับในคดีต่างๆ มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ศาลสั่งให้ทำลายอยู่ในครอบครองหรือไม่
 
หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทำลายอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของใคร เจ้าหน้าที่ก็อาจตั้งข้อหาตามมาตรา 16/2 ก่อนได้ หากผู้ต้องสงสัยจะต่อสู้ว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีคำพิพากษาสั่งให้ทำลาย ก็ต้องเป็นภาระไปต่อสู้คดีกันในชั้นศาล ยิ่งในยุคสมัยที่เจ้าหน้าที่มักหาข้อหามาดำเนินคดีกับผู้ที่เคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมือง ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีคนถูกตั้งข้อหาการครอบครองข้อมูลตามมาตรา 16/2 ได้จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นภาระทั้งต่อผู้ถูกตั้งข้อหา และกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมารับมือกับคดีเหล่านี้