คนไทยยังไม่ได้กลับบ้าน! ฟ้องสองศาล แพ้สองศาล เหตุมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มครองแล้ว

คนไทยยังไม่ได้กลับบ้าน! ฟ้องสองศาล แพ้สองศาล เหตุมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุ้มครองแล้ว

เมื่อ 16 เม.ย. 2563
ไฟล์แนบขนาดไฟล์
คำพิพากษา ศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 508-2563.pdf387.46 KB

 

ศาลปกครองไม่รับฟ้อง คดีที่ขอให้เพิกถอนประกาศ ก.พ.ท. ที่สั่งให้คนไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Fly) และเอกสารจากสถานทูตก่อนบินเข้าประเทศ โดยศาลปกครองเห็นว่า เป็นประกาศที่เนื้อหาเหมือนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดอำนาจของศาลปกครองไว้ ต่อมาเมื่อฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งก็ยกฟ้องทันที โดยให้เหตุผลว่า เป็นข้อกำหนดที่อาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
 
 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ชาวไทยซึ่งพำนักอยู่ ณ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอน ข้อ 4. และข้อ 5. ในประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (ก.พ.ท.) ที่กำหนดให้ผู้โดยสารสัญชาติไทยที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องมีเอกสารอัน ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly) และ หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้ ถ้าผู้โดยสารไม่มีเอกสารดังกล่าวให้ทางสายการบินงดออกบัตรขึ้นเครื่องและปฏิเสธการขึ้นเครื่อง โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป 
 
 
โดยในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลปกครองอธิบายเหตุผลว่า เงื่อนไขดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกประกาศมาโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องเสรีภาพในการเดินทาง และเรื่องการห้ามเนรเทศคนไทยออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 39, 38 และ 25 นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิผลที่จะบ่งชี้ถึงสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารได้ แต่กลับส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศ เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร กระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างไม่ได้สัดส่วน
 
1 เมษายน 2563 ศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้การฟ้องขอให้เพิกถอนดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วข้อความตามประกาศดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับข้อ 3 วรรคหนึ่ง(6) และวรรคสอง ของข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าหากศาลรับไว้พิจารณาและต่อมามีคำพิพากษาให้เพิกถอน ย่อมเท่ากับเป็นการเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเช่นกัน 
 
ศาลปกครองไม่มีอำนาจกระทำได้ เนื่องจาก มาตรา 16 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้บัญญัติไว้แล้วว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำใดตามพ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้นศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา แต่ผู้เสียหายยังมีสิทธินำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมได้ 
 
หลังจากศาลปกครองไม่รับคดีไว้พิจารณาแล้ว ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2563 อาทิตย์ จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่ง หรือศาลยุติธรรม โดยยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นจำเลยในข้อหาละเมิด และมีคำขอให้ศาลแพ่งพิพากษาเพิกถอนข้อ 3 วรรคหนึ่ง(6) และวรรคสอง ในข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และขอให้สั่งคุ้มครองเป็นกรณีฉุกเฉินให้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ใช้บังคับเป็นการชั่วคราวด้วย
 
ในวันเดียวกันกับที่ยื่นฟ้อง ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีเวลาประมาณ 15.00 และสั่งยกฟ้องคดีนี้ทันที โดยให้เหตุผลว่า ข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9(4) แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าข้อกำหนดข้อที่ 3(6) เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษายกฟ้อง 
 
หลังจากศาลพิพากษายกฟ้อง มีผลให้คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ ยังต้องมีเอกสารสองอย่างประกอบกัน คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly) และ หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานทูตไทย ตามข้อกำหนดข้อ 3(6) และวรรคสอง ซึ่งข้อกำหนดนี้จะถูกใช้บังคับไปโดยไม่มีกำหนด จนกว่านายกรัฐมนตรีจะออกคำสั่งให้เปลี่ยนแปลง ขณะที่อาทิตย์ ก็เตรียมการที่จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อไป
 
 
 
 
 
สรุปคำฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 
 
25 มีนาคม 2563 ผู้ฟ้องคดี คือ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ชาวไทยพำนักอยู่ ณ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน ข้อ 4. และข้อ 5. ในประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563
 
ในประกาศฯ ข้อ 4 ระบุว่า  ผู้โดยสารสัญชาติไทยที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ต้องมีเอกสารตามเงื่อนไข คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit to fly) และ หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้
 
ข้อ 5 ระบุว่า หากผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารได้ครบถ้วน ให้ทางสายการบินปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check in) 
 
ผู้ฟ้องคดีได้ให้เหตุผลไว้ในคำฟ้องดังต่อไปน้ี
 
            1. ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากประกาศฯ ข้อ 4 และ ข้อ 5 เดิม ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางตามรัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยที่ไม่ต้องมีเอกสารใดๆ ในการเข้าประเทศ ประกอบกับข้อกำหนดดังกล่าวมีสภาพบังคับก่อให้เกิดภาระอันเกินสมควรที่ทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสโคโรน่าโดยไม่จำเป็นในการไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อจัดหาเอกสารตามเงื่อนไข
 
            2. ข้อ 4 และ ข้อ 5 ในประกาศฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เนื่องจากปราศจากกฎหมายที่ให้อำนาจในการออกประกาศฯ และวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.การเดินอากาศฯ มุ่งเน้นไปที่การควบคุมการเดินอากาศอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ผู้ดำเนินการอากาศ และผู้โดยสาร ไม่ใช่เพื่อการสาธารณสุข ข้อกำหนดดังกล่าว ยังถือว่าเป็นการสั่งการสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และกระทรวงต่างประเทศให้ออกหนังสือรับรองเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งโดยโครงสร้างแล้ว สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงไม่มีอำนาจออกประกาศดังกล่าว
 
            3. ข้อ 4 และ ข้อ 5 ในประกาศฉบับดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 39, 38 และ 25 
  • มาตรา 39 วรรค 1 กำหนดว่าการห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้ เป็นสิทธิเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งในคดีนี้ ผลของข้อกำหนดดังกล่าว ถ้าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถจัดหาเอกสารได้ครบตามข้อกำหนด ผู้ฟ้องก็จะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ซึ่งขัดกับมาตรา 39 
  • มาตรา 38 วรรค 1 รับรองเสรีภาพการเดินทางไว้ซึ่งต้องรวมถึงการเดินทางข้ามพรมแดนด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมีผลเป็นการจำกัด ละเมิด และทำให้เสรีภาพในการเดินทางกลับประเทศของผู้ฟ้องคดีไม่สามารถใช้ได้อย่างแท้จริง
  • มาตรา 25 วรรค 1 ระบุว่า การใดที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นไม่ได้จำกัดหรือห้าม บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นและได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่ปรากฎว่ามีบทบัญญัติใดกำหนดเงื่อนไขในการเดินทางกลับประเทศจะต้องมีเอกสารประกอบ เสรีภาพในการเดินทางกลับโดยไม่ต้องใช้เอกสาร ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้ 
            4. ข้อ 4 และ ข้อ 5 ในประกาศฯ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานทุกประการ ได้แก่
  • หลักความสัมฤทธ์ผล ที่ฝ่ายปกครองจะต้องเลือกใช้มาตรการที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากมาตรการดังกล่าวไม่อาจทำให้บรรลุได้อย่างแน่แท้หรือเป็นไปด้วยความยากลำบากเกินควร ต้องถือว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การไปตรวจเพื่อขอรับเอกสาร Fit to fly ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าแต่อย่างใด เพราะในประกาศก็ไม่ได้กำหนดว่า จะต้องระบุถึงสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรน่า โดยเอกสาร Fit to Fly เพียงรับรองว่า ผู้โดยสารที่เข้ารับการตรวจมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศเท่านั้น ประกอบกับการกำหนดให้ผู้โดยสารต้องจัดหาและแสดงเอกสารเป็นการบังคับให้ต้องไปยังสถานที่ที่มีคนหนาแน่น อันจะเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งส่งผลตรงกันข้าม
  • หลักความจำเป็น ผู้ถูกฟ้องคดีควรต้องเลือกมาตรการที่จำกัดหรือกระทบสิทธิเสรีภาพบุคคลให้น้อยที่สุด แต่มาตรการตามข้อ 4 และข้อ 5 เป็นมาตรการการจำกัดเสรีภาพที่รุนแรง ก้าวล่วงเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังมีทางเลือกอื่นให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำได้ คือ การตรวจหาเชื้อที่ท่าอากาศยานปลายทาง ที่ประเทศไทย
  • หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องพิจารณาดุลยภาพระหว่างความเสียหายที่จะเกิดแก่สิทธิของบุคคลกับประโยชน์ที่มหาชนจะได้รับ กรณีนี้มีผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางกลับประเทศจากทั่วโลกจำนวนมากที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เวลา รวมถึงรับความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ในการหาเอกสารตามเงื่อนไข ถือว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมเพราะสร้างภาระเกินสมควรแก่คนจำนวนมาก
            5. ข้อ 4 และ ข้อ 5 ในประกาศเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินควร เนื่องจากป็นการผลักภาระในการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้แก่ผู้โดยสารแต่ฝ่ายเดียวโดยเฉพาะในยามที่ประชาชนกำลังเผชิญความลำบาก ผู้ใช้อำนาจควรอำนวยสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการกลับประเทศโดยเร่งด่วน มากกว่าสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น 
 
พร้อมกันนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยการทุเลาการบังคับตามข้อ 4 และข้อ 5 ตามประกาศฯ อย่างฉุกเฉิน โดยให้เหตุผลว่า การขอทุเลาดังกล่าว ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐแต่อย่างใด แต่ถ้ายังให้ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับต่อไปในระหว่างพิจารณาซึ่งใช้เวลานานนั้น ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องได้รับความเสียหายร้ายแรงที่ไม่สามารถเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีเองก็ยังมีทางเลือกอื่นตามพ.ร.บ.การเดินอากาศฯ ที่สามารถจัดให้ตรวจหาเชื้อที่สนามบินปลายทางได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการที่กระทบต่อเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีและผู้โดยสารคนอื่นที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ 
 
ผู้ฟ้องคดี ยื่นคำแถลงต่อศาลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ว่า ปัจจุบันมีการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ให้มีผลตั้งแต่วันที 26 มีนาคม 2563 โดยในข้อ 3 วรรค 1(6) และวรรค 2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะเดียวกับข้อ 4  และ ข้อ 5 ของประกาศฯ 
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลปกครอง
 
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย และเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิจของผู้ได้รับเชื้อ ประกอบกับยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ทั้งไม่มียารักษาโรคโดยตรง จึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่ วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคดรน่า 2019 เป็นการระบาดใหญ่และขอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเด็ดขาดยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 มีลักษณะเดียวกับข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ถูกฟ้องในคดีนี้
 
ถึงแม้การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎในข้อ 4 และข้อ 5 ตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรค1 (1) ประกอบมาตรา 72 วรรค1 (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วข้อความตามประกาศดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับข้อ 3 วรรค 1(6) และวรรค 2 ของข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าหากศาลรับไว้พิจารณาและต่อมามีคำพิพากษาให้เพิกถอน ย่อมเท่ากับเป็นการเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจกระทำได้ เนื่องจาก มาตรา 16 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำใดตามพ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง 
 
แสดงให้เห็นว่า คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช่้อำนาจทางปกครอง ตามกฎหมายของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองเสียทั้งหมด แต่ผู้เสียหายยังมีสิทธินำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมได้
 
ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้และเมื่อศาลไม่รับฟ้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำขอวิธีการชั่วคราวอีก 
 
 
 
 
สรุปคำฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง
 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ได้มอบอำนาจให้นายพศินทัศน์ สินโสภณเกษม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในข้อหาละเมิด โดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนด ข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง ที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และขอให้พิพากษาห้ามจำเลยและผู้ใต้บังคับบัญชาจำเลยออกกฎหรือแนวปฏิบัติใดๆ ที่มีลักษณะเดียวกับข้อกำหนดดังกล่าว รวมถึงห้ามออกคำสั่งใดๆ ที่เป็นการบังคับให้ผู้มีสัญชาติไทยต้องแสดงเอกสารอื่นใดนอกจากหนังสือเดินทางไทยหรือต้องดำเนินการอื่นใดก่อนเดินทางกลับประเทศไทยนอกเหนือจากการดำเนินการตามปกติ 
 
ประเด็นในเนื้อหาคำฟ้องมีดังนี้ 
 
             1. จำเลยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อหนดตามความในมาตรา 9 โดยข้อ 3 กำหนดมาตรการปิดช่องทางการเข้ามาราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ปิดช่องทางเข้าออก และกำหนดให้ ผู้มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางกลับประเทศนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ต้องแสดงเอกสารสองฉบับ คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly health certificate : FTF) ซึ่งออกให้ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง และหนักสือรับรองที่ออกโดยสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทย
 
 
             2. เดิมโจทก์ในคดีนี้ มีเสรีภาพในการเดินทางกลับประเทศได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องจัดหาเอกสารใดๆ แต่ภายหลังมีการออกข้อกำหนด โจทก์ต้องแบกรับภาระเกินสมควรในการจัดหาเอกสารตามเงื่อนไข ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงต้องรับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจากการไปยังสถานที่ต่างๆ ที่คนเยอะเพื่อดำเนินการการขอเอกสาร ซึ่งที่ประเทศไอร์แลนด์การจัดหาเอกสารเหล่านี้กระทำได้ยากมาก เนื่องจากแพทย์ปฏิเสธการตรวจ เพราะต้องระดมกำลังไปรักษาผู้ป่วย COVID-19
 
 
             3. โจทก์เห็นว่า ข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง มิได้เป็นมาตรการที่ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าแต่อย่างใด เพราะเอกสารทั้งสองฉบับไม่ได้บ่งชี้ว่า ผู้มีเอกสารคือผู้ไม่มีเชื้อไวรัสโคโรน่า เอกสาร Fit to Fly ระบุเพียงว่า ผู้โดยสารมีสุขภาพเหมาะสมสำหรับการเดินทางด้วยเครื่องบินเท่านั้น 
 
 
             4. โจทก์เห็นว่า มาตรการที่ได้ผลมากที่สุดที่รัฐควรทำ คือ การบังคับให้ผู้ที่เดินทางกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีเชื้อ ซึ่งมาตรการนี้ใช้ได้ผลมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังส่งผลกระทบน้อยกว่าการบังคับให้ผู้โดยสารต้องดำเนินการหาเอกสารในยามที่เกิดวิกฤติในต่างประเทศที่เป็นไปอย่างยากลำบาก 
 
 
พร้อมกันนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินมาด้วย โดยระบุว่า 
 
จากการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการออกข้อกำหนดฯข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสองตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ หรือทำให้โจทก์ต้องได้รับภาระเกินสมควร และเมื่อข้อกำหนดมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จึงเป็นการกระทำละเมิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไปเรื่อยๆ โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยการสั่งให้ระงับการใช้ข้อกำหนดฯ ชั่วคราว เพื่อคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศไม่ต้องแสดงเอกสาร Fit to Fly และหนังสือรับรองฯ
 
โจทก์มีความจำเป็นต้องรีบเดินทางกลับประเทศไทยโดยด่วนเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไอร์แลนด์มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าประเทศไทย หากเนิ่นช้าไปโอกาสที่จะหาสายการบินกลับประเทศก็ยากยิ่งขึ้น เพราะหลายสายการบินได้หยุดการให้บริการแล้ว จึงถือเป็นเหตุฉุกเฉินที่สมควรให้ศาลมีคำสั่งโดยด่วน 
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลแพ่ง 
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9(4) แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ศาลเห็นว่า ข้อกำหนดข้อที่ 3(6) เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ 
 
เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็ไม่มีเหตุให้ต้องพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยฉุกเฉินอีกแต่อย่างใด