รับมือโควิดในญี่ปุ่น : มาตรการฉุกเฉินที่ไม่มีบทบังคับ และจ่ายเงินเยียวยาให้ “ทุกคน”

รับมือโควิดในญี่ปุ่น : มาตรการฉุกเฉินที่ไม่มีบทบังคับ และจ่ายเงินเยียวยาให้ “ทุกคน”

เมื่อ 24 เม.ย. 2563
เรื่องโดย
โมโตกิ ลักษมีวัฒนา
นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยโตเกียว
 
 
เมื่อได้ยินคำว่า “ญี่ปุ่น” แล้ว หลายๆ ท่านอาจนึกถึงการจัดการและบริหารที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ซึ่งในยามปกติอาจเห็นได้จากเมืองที่สะอาด รถไฟที่ขับเคลื่อนอย่างตรงเวลา คุณภาพสินค้าการบริการที่ดี และประชาชนที่มีวินัยและรักษากฎเกณฑ์
 
ด้วย “ภาพลักษณ์” ดังกล่าว หลายๆ ท่านอาจตกใจเมื่อได้ยินว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันในช่วงนี้อยู่ที่ตัวเลข 3 หลักติดๆ กันหลายวัน (เช่น ในวันที่ 16 เมษายน มีผู้ติดเชื่อรายใหม่แค่ในกรุงโตเกียวถึง 201 คน) จนมีผู้ป่วยสะสมในประเทศรวมเกิน 1 หมื่นคนแล้ว หรือกรณีมีข่าวดังที่รถพยาบาลฉุกเฉินถูกโรงพยาบาลกว่า 70 แห่งปฏิเสธการรับผู้ป่วยชายอายุ 80 ปีในโตเกียว ทำให้ “ภาพลักษณ์” การจัดการปัญหาของญี่ปุ่นที่ท่านอาจเคยมี ต้องมาประสบกับ “ความเป็นจริง” ของสังคมญี่ปุ่น ที่ตัวผู้เขียนเองก็ได้โอกาสสังเกตด้วยตนเองเมื่อมาใช้ชีวิตที่นี่
 
ผู้เขียนจะขอแชร์ประสบการณ์ และบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับวิธีการรับมือโควิด-19 ของสังคมญี่ปุ่น โดยจะแบ่งประเด็นเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) มาตรการเชิงกฎหมาย/นโยบายโดยภาครัฐ 2) บทบาทและการปรับตัวของภาคเอกชน 3) การตอบรับของประชาชน
 
 
Image by Masashi Wakui from Pixabay
 
โดยพื้นฐานแล้วผู้เขียนเชื่อว่า ความสามารถการบริหารในยามวิกฤติ (ทั้งของรัฐบาล เอกชน และประชาชน) ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ใน “ยามปกติ” ที่มีผลกระทบต่อศักยภาพ ความนึกคิด ที่กำหนดท่าทีในการรับมือสถานการณ์ เช่น การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ตัดงบประมาณและบุคลากรด้านการรับมือโรคระบาดมาเป็นเวลาหลายปี ย่อมส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการดำเนินงานในปัจจุบัน หรือการที่โครงสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐฯ อิงกับการประกันผ่านผู้ว่าจ้าง ย่อมมีผลให้วิกฤติครั้งนี้รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อประชาชนหลายล้านคนในสหรัฐฯ ว่างงานและสูญเสียประกันสุขภาพเหล่านั้น
 
ผู้เขียนจะพยายามวิเคราะห์ทั้งปัจจัยใน “ยามวิกฤติ” และ “ยามปกติ” ต่าง ๆ ในสังคมญี่ปุ่น ที่น่าจะมีผลในการกำหนดการรับมือโควิดของญี่ปุ่น เพื่อที่จะเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทย ทั้งในแง่ของสิ่งที่เราควรคาดหวังกับรัฐบาล เอกชน และประชาชนในยามวิกฤติ และในแง่ของแนวนโยบายที่ควรจะเป็น แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ควรจะเป็น ในยามปกติอีกด้วย 
 
ข้อมูลที่ผู้เขียนจะอ้างอิงนั้นประกอบไปด้วยแหล่งข่าวภาษาอังกฤษ แหล่งข่าวภาษาญี่ปุ่น การสนทนากับนักเรียนภาษาอังกฤษของผู้เขียน (ผู้เขียนทำงานพิเศษเป็นครูสอนภาษาอังกฤษกับคนญี่ปุ่น) และประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง
 
 
มาตรการเชิงกฎหมาย และนโยบายของภาครัฐ
 
ยุทธศาสตร์การรับมือกับโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนั้นค่อนข้าง “สวนกระแส” ของโลกที่ต่างดำเนินนโยบายที่เน้นการจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน (ในที่นี้ขอเรียกง่าย ๆ ว่า “lockdown”) กล่าวคือ รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามรักษา “ชีวิตตามปกติ” ของประชาชน โดยการรักษาให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำ ด้วยการตั้งเงื่อนไขการได้รับการตรวจไวรัสไว้สูง ทำให้จำนวนการตรวจน้อย (หรือที่เรียกกันว่า “undertesting”) การไม่เลื่อนการเปิดเรียนของโรงเรียน แต่เน้นการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนสาหัส และส่งเสริมการป้องกันตัวเองโดยประชาชน ให้เลี่ยงพื้นที่แออัด เป็นต้น ซึ่งนอกจากญี่ปุ่นแล้ว ประเทศสวีเดนก็ดำเนินยุทธศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ถูกเลือกใช้เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการป้องกันไม่ให้เกิด “ความล้มเหลวทางการแพทย์ (医療崩壊)”
 
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน (ทั้งในญี่ปุ่นและสวีเดน) ก็ชี้ว่ายุทธศาสตร์นี้ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทาง เริ่มจากการ “ขอความร่วมมืองดเว้นการเดินทาง (自粛要請)” ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทั้งโดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และผู้ว่าการกรุงโตเกียวยูริโกะ โคอิเกะ และเพิ่มความหนักแน่นขึ้นตามลำดับ จนถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศโดยนายกรัฐมนตรีอาเบะในวันที่ 16 เมษายน อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินในปัจจุบันนั้น แทบจะไม่ได้ให้อำนาจในการลงโทษประชาชนที่ฝ่าฝืนการขอความร่วมมือ
 
ซึ่งหมายความว่า ในทางกฎหมายแล้วการ “ประกาศภาวะฉุกเฉิน” นั้นเป็นเพียงการ “ขอความร่วมมือ” ที่มากกว่าเดิมเท่านั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดและมีโทษ คือ จำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือปรับ 3 แสนเยน (ประมาณ 1 แสนบาท) คือ การไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ หรือการเก็บรักษาวัตถุบางประเภท ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป
 
อีกมาตรการหนึ่งของรัฐบาล คือ การเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลอาเบะได้ประกาศให้ความช่วยเหลือ “1 แสนเยนต่อคน” (ประมาณ 30,000 บาท) กับประชาชนญี่ปุ่นทุกคน และคนต่างชาติและคนต่างชาติที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์และมีสิทธิ์พำนักในญี่ปุ่น 3 เดือนขึ้นไป (一定の条件を満たす) แน่นอนว่า ในช่วงเวลาวิกฤติจากโรคระบาดเช่นนี้ การเยียวยาแบบที่ต้องตรวจสอบเงื่อนไข (หรือที่เรียกว่า mean tested) นั้นมักสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น ดังที่เห็นได้จากการไปยื่นเอกสารในสถานที่ราชการของไทย การที่ “แจกกับทุกคน” เช่นนี้จึงเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การที่นายกอาเบะได้ตัดสินใจเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง
 
แต่การตัดสินใจดังกล่าวก็มิได้มาอย่างราบรื่น แต่เดิมนั้นรัฐบาลอาเบะวางแผนที่จะให้เงินเยียวยา 3 แสนเยนต่อ “ครัวเรือนที่รายได้ลดลงอย่างกะทันหัน” อย่างเดียว ซึ่งนอกจากจะขาดความยุติธรรมแล้ว ยังสร้างปัญหาความแออัดในสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นปัญหาที่ชัดเจนของการเยียวยาแบบ mean tested แต่การ “เปลี่ยนใจ” ของรัฐบาลอาเบะนั้น ก็เกิดจากการกดดันของพรรคโคเม (พรรคร่วมรัฐบาล) และสส.พรรค LDP (พรรค Liberal Democratic Party ที่นายกอาเบะสังกัด) รุ่นใหม่บางส่วน มิได้มาจากการวางแผนที่ไตร่ตรองมาดี หรือการที่ “ทีมผู้นำเก่งกาจ” แต่อย่างใด
 
โดยรวมแล้ว แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีมาตรการที่ “ดี” ออกมาในที่สุด ผู้เขียนก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าการดำเนินการนั้นมีความทุลักทุเล ทำการตัดสินใจแบบวินาทีสุดท้าย มากกว่าการบริหารที่เป็นระบบระเบียบ
 
 
บทบาทของภาคเอกชน
 
ดังที่กล่าวไปข้างต้น รัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนี้ไม่มีอำนาจที่จะ “สิ่งปิด” บริษัทเอกชน ทำให้การปรับตัวต่างๆ เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารบริษัทเป็นหลัก ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวนั้นน้อยมาก พนักงานยังคงนั่งรถไฟไปทำงานเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่า โดยพื้นฐานแล้วบริษัทญี่ปุ่นต่างมี “ความพร้อม” ในการปรับวิธีการทำงานต่ำ เช่นจากสถิติในปี 2019 นั้น บริษัทกว่า 80% ได้รายงานว่า ไม่มีความพร้อมในการทำงานแบบ remote working 
 
ในคลิปที่นายกอาเบะได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งแรก ก็มีคอมเม้นท์ที่พูดแบบปลงๆ ว่า พรุ่งนี้ก็ต้องไปทำงานอยู่ดี ซึ่งต้นเหตุของ “ความไม่พร้อม” เหล่านี้คงมีอยู่หลายประการ แต่ผู้เขียนมองว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ “วัฒนธรรมองค์กร” ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นที่ค่อนข้างมีความหัวเก่า ขาดความยืดหยุ่น และไม่รับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เพราะหากเป็นบริษัทที่เป็น “ทุนนอก (外資)” ที่เพื่อนคนญี่ปุ่นของผู้เขียนทำงาน หรือนักเรียนคนหนึ่งที่ทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ต่างปรับตัวให้มีการทำงานจากบ้านค่อนข้างรวดเร็ว
 
มหาวิทยาลัยต่างก็มีการปรับตัวที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน ตัวผู้เขียนได้โอกาสมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งต้องยอมรับว่าการตัดสินใจค่อนข้างล่าช้า ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนั้นยังวางแผนที่จะเปิดการเรียนการสอนตามปกติ และเพิ่งมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะย้ายการสอนทุกรายวิชาเป็นแบบออนไลน์ในไม่กี่วันก่อนเปิดเทอม ระบบการลงทะเบียนออนไลน์ หรือระบบสื่อการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัย (ที่ใช้ในยามปกติ) ก็ไม่มีความพร้อม ส่งผลให้ระบบล่มเป็นระยะๆ เป็นต้น เท่าที่ผู้เขียนได้ฟังมาจากเพื่อนที่เรียนในมหาวิทยาลัยอื่น มหาวิทยาลัยวาเซดะได้ตัดสินใจเลื่อนการเปิดเทอมไปเดือนพฤษภาคมตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ส่วนมหาวิทยาลัยฮิโตซึบาชิก็ตัดสินใจช้า แต่ก็ได้เลื่อนการเปิดเทอมไปเดือนพฤษภาคมเช่นกัน
 
นอกจากการปรับตัวของหน่วยงานและองค์กรเอกชนแล้ว การปรับตัวของประชาชนก็มีอย่างหลากหลายเช่นกัน นักเรียนคนหนึ่งของผู้เขียนค่อนข้างเป็นห่วงถึงขั้นวิตก จึงแทบจะไม่ออกจากบ้านเลย ในขณะเดียวกันประชาชนบางส่วนนั้นกลับเดินทางไปในที่แออัดอย่างหน้าตาเฉย ทั้งการไปชมดอกซากุระ หรือการมาถ่ายรูปรับปริญญาบัตรในมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ผู้เขียนสังกัด (ดูรูป) ทั้งที่มหาวิทยาลัยได้ยกเลิกพิธีรับปริญญาบัตร และทำแค่การลงชื่อรับปริญญาบัตร กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ได้แต่งชุดสูทและกิโมโนมาถ่ายรูปด้วยตนเอง
 
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างจะ “ไร้ความรับผิดชอบ” ผิดกับภาพของคนญี่ปุ่นที่มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมาก
 
 
นักศึกษาถ่ายรูปกับเพื่อนร่วมรุ่นและผู้ปกครอง รูปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2020

 
ผู้เขียนมองว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจสะท้อนถึง “ความเคยชิน” ที่คนญี่ปุ่นมี กล่าวคือ ในด้านของวัฒนธรรมองค์กรนั้นบุคลากรระดับผู้บริหาร (ที่มักเป็นคนอายุสูง) “เคยชิน” กับการให้ลูกน้องมาทำงานที่ออฟฟิศ การติดตามการทำงานทุกขั้นตอน การทำงานแบบเกินเวลา (overtime) ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จในอดีต ทำให้ไม่มีการพยายามปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนขาดความยืดหยุ่นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ เพราะไม่สามารถ “นึก” ถึงวิธีแก้ไขปัญหา และไม่มีความ “พร้อม” เชิงกายภาพที่ต้องใช้การลงทุนในระดับหนึ่ง ส่วนการที่คนญี่ปุ่นมีพฤติกรรมที่หละหลวมก็เป็นเพราะ “เคยชิน” กับโรคระบาด เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่มีทุกๆ ปี ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อโควิด-19 อาจจะไม่ต่างจากโรคเหล่านั้นที่กลายเป็น “ส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” ไปแล้วในระดับหนึ่ง
 
 
การตอบรับของประชาชน
 
ทัศนคติต่อรัฐบาลอาเบะในช่วงนี้ก็ลดลงไปมาก โพลล์ของ Gallup International ชี้ว่าประชาชนญี่ปุ่นกว่า 62% รู้สึกว่ารัฐบาลอาเบะ “บริหารผิดพลาด (mishandle)” ในขณะที่โพลล์ของสำนักข่าว FNN ชี้ว่า คะแนนสนับสนุนรัฐบาลลดลงเหลือ 39% ตรงข้ามกับคะแนนไม่สนับสนุนที่เพิ่มเป็น 44.3% เป็นต้น ซึ่งตรงข้ามกับรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จากการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้รับการยกย่องในหลายประเทศทั่วโลก
 
จากที่ผู้เขียนได้สนทนากับนักเรียนนั้น บางคนที่ไม่ได้มีความสนใจการเมืองมากก็ไม่ได้แสดงจุดยืนเท่าไหร่ แต่บางคนก็พูดจาเกี่ยวกับนโยบาย “แจกหน้ากากผ้า 2 ใบต่อครัวเรือน” ในแนวล้อเลียน โดยเฉพาะในประเด็นงบประมาณมหาศาลที่ดูไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้
 
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก คือ การที่นักเรียน และเพื่อนของผู้เขียนแสดงความ “เห็นด้วย” กับประเด็น “ความล้มเหลวทางการแพทย์” ว่าเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้หลายๆ คนค่อนข้างยอมรับการที่รัฐบาลและโรงพยาบาลเลือกใช้ยุทธศาสตร์ที่จำกัดการตรวจโรค เพราะหลายๆ คนต่างเกรงว่าการเพิ่มการตรวจโรคในแบบที่เกาหลีใต้ทำนั้น อาจทำให้มีผู้ป่วยทะลักเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าความกังวลในเรื่องของภาระต่อระบบสาธารณสุขนั้น อาจเป็นสิ่งที่มีอย่างทั่วถึงใน “ยามปกติ” ทำให้การจัดการกับวิกฤติในรูปแบบนี้ เป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นยอมรับได้อย่างง่าย
 
 
สถานการณ์ในญี่ปุ่น “แย่” หรือไม่
 
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ (และยังหาคำตอบไม่ได้) คือ หากการรับมือของสังคมญี่ปุ่นมีปัญหาเช่นนี้แล้ว เพราะเหตุใดสถานการณ์จึงไม่ “แย่” เท่าหลาย ๆ ประเทศตะวันตก ที่ต่างดำเนินมาตรการ lockdown หลายรูปแบบ ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิต
 
แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุผลอาจเป็นการ “บิดเบือนข้อมูล” ผ่านการ undertest และการเก็บสถิติที่หละหลวม (เช่น การไม่นับผู้เสียชีวิตจากปอดอักเสบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19) หรืออาจเป็นเพราะว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงเวลาวิกฤติจริง และเมื่อดู trend line แล้ว ผู้ติดเชื้อใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤติในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศตะวันตกเท่านั้น
 
บทความใน Asia Times ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การที่ญี่ปุ่นมีหลักประกันสุขภาพต่อโรคปอดอักเสบ และวัคซีน ที่เข้าถึงได้อย่างง่ายดายนั้น อาจเป็น “ด่านสกัด” ต่อโควิด-19 ซึ่งแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ผู้เขียนบทความดังกล่าวได้สัมภาษณ์ก็ไม่ได้คิดถึง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวนโยบายในยามปกตินั้น นอกจากจะเป็นการรักษาสุขภาพในยามปกติแล้ว ยังอาจมีโอกาสที่จะมีผลต่อการรับมือวิกฤติได้อย่างไม่คาดคิดอีกด้วย
 
 
แล้วประเทศไทยจะเรียนรู้อะไรจากญี่ปุ่นได้หรือไม่? 
 
เมื่อเราดูบรรดาตัวชี้วัดต่างๆ นั้น การรับมือด้านสาธารณสุขของประเทศไทยคงเหนือกว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่ด้วยซ้ำ นอกจากตัวเลขในกรณีโควิด-19 แล้ว ในด้านความพร้อมของการสาธารณสุขโดยรวมนั้น ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว แต่ในการรับมือด้านเศรษฐกิจนั้น นโยบายเยียวยาแบบไม่มีเงื่อนไขของญี่ปุ่นคงเหนือกว่าอยู่มาก ทั้งในแง่ของการเข้าถึงและการเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนญี่ปุ่นน่าจะมั่นคงกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย หรือประเทศยากจนอื่นๆ อย่างเช่น อินเดีย ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์ในแนวเดียวกับคนไทยบางส่วนว่า “กลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัส”
 
กล่าวคือ มาตรการด้านเศรษฐกิจในยามฉุกเฉิน และแนวนโยบายสาธารณสุขในยามปกติ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังอาจขาดอยู่ และเป็นสิ่งที่ผู้สร้างนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ควรคำนึงถึงให้มากกว่านี้ เพื่อการสร้างสังคมที่มีความ “พร้อม” ในการรับมือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า