สภาเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้าน: ส.ส. มีเสียงค้าน แต่ ส.ว.ผ่านฉลุย!

สภาเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้าน: ส.ส. มีเสียงค้าน แต่ ส.ว.ผ่านฉลุย!

เมื่อ 3 มิ.ย. 2563

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเกี่ยวกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ สามฉบับ หลังจากมีการอภิปรายกันในสภายาวนานถึงห้าวัน ผลการลงมติคือ สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ทั้งสามฉบับ และได้ส่งต่อไปให้วุฒิสภาพิจารณา และลงมติอีกครั้ง ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่ง ที่ประชุมวุฒิสภาใช้เวลาอภิปรายทั้งหมดสองวัน และลงมติเห็นชอบพ.ร.ก.ทั้งสามฉบับ โดยไม่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คนใดลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบเลย

 

 

เนื้อหาโดยสรุปของ พ.ร.ก.เงินกู้ สามฉบับ

 

พ.ร.ก.เงินกู้ทั้งสามฉบับ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

 

ฉบับที่ 1 พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท) กำหนดให้ เงินกู้ตาม พ.ร.ก.นี้ในวงเงินหนึ่งล้านล้านบาท จะต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด19 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมที่ได้รับผลกระทบ

 

ฉบับที่ 2 พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs) กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว ภายในวงเงินไม่เกินห้าแสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกรณีนอกเหนือจากการให้กู้ยืมเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ฉบับที่ 3 พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้) กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันดำเนินการ จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด19 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

 

 

ที่ประชุมสภา ส.ส. อภิปรายยาว 5 วัน ฝ่ายค้านลงคะแนนงดออกเสียง และไม่เห็นด้วยทั้งสามฉบับ

 

จากการอภิปราย พบว่า ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลบางส่วน อาทิ สาธิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และ ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก ตามที่ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามประธาน ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ  ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่ามีหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือพิจารณาและกลั่นกรองอยู่แล้ว อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง โดยทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวอภิปรายสรุปภาพรวม ในประเด็นนี้ ว่า ยินดีให้ตรวจสอบ เพราะเป็นเงินของแผ่นดิน ต้องดำเนินตามกฎหมายทุกประการ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า รัฐบาลเข้าใจสถานการณ์ความยากลำบากประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ โดยในส่วนของการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็เพื่อบรรเทาการขาดรายได้ของประชาชนในช่วงนี้ 

 

นอกจากนี้ ในการพิจารณา พ.ร.ก. เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ฉบับแรก ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นด้วยกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะเร่งนำเงินไปฟื้นฟู และเสริมความแข็งแกร่งโดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข แต่พบว่ายังมีข้อบกพร่องในเรื่องระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงงดออกเสียง 207 เสียง แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภาได้ลงมติเห็นชอบผ่าน พ.ร.ก. ฉบับแรกนี้ด้วยคะแนนเสียง 274 เสียง

 

ส่วน พ.ร.ก.ฉบับที่สอง จากการพิจารณา ฝ่ายค้านเห็นว่าการที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายสำหรับช่วยเหลือ SMEs นับว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธิการ เนื่องจากเห็นว่าระบบการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่อาจนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ฝ่ายค้านจึงงดออกเสียงอีกครั้ง ด้วยจำนวน 205 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 275 เสียง

 

ขณะที่ พ.ร.ก.ฉบับที่สาม ที่มีการท้วงติงของ ส.ส.ฝ่ายค้านมากที่สุด โดยเห็นว่ายังไม่มีความเร่งรีบในการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวเหมือนกับสองกรณีก่อนหน้า เนื่องจาก การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่นั้น ยังสามารถกระทำได้ด้วยวิธีอื่นและยังมีระยะเวลาอยู่พอสมควร นอกจากนี้ การที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นผู้ดำเนินการ ฝ่ายค้านมองว่าไม่เหมาะสม จึงลงมติไม่เห็นชอบกับพ.ร.ก.ฉบับนี้ ด้วยคะแนน 195 เสียง แต่ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 274 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

 

 

ที่ประชุม ส.ว. โหวตไม่แตกแถว เห็นชอบ พ.ร.ก. กู้เงินสามฉบับ

 

ในที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบให้รวมการพิจารณาพ.ร.ก.ทั้งสามฉบับไปในคราวเดียวกัน เนื่องจากเนื้อหามีความเกี่ยวเนื่องกัน การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นโดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงมีการท้วงติงให้รัฐบาล มีความระมัดระวังในการใช้เงินกู้ และควรจัดให้มีกลไกการตรวจสอบที่โปร่งใส

 

โดย พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ได้อภิปรายว่า เป็นห่วงว่าการใช้งบประมาณจากเงินกู้จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ปืนฉีดน้ำ คือ ยิงไปเรื่อยแต่หกเรี่ยราด ยิงไปแล้วได้แค่เปียก แต่ไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย โดยทราบว่า ขณะนี้เริ่มมีการจับคู่ฮั้วกันแล้วในโครงการตาม พ.ร.ก.กู้เงิน โดยเฉพาะการใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ

 

ทางด้าน วันชัย สอนศิริ อภิปรายว่า ปฏิเสธไม่ได้ ว่า พ.ร.ก.ทั้งสามฉบับมีความเป็นจำเป็น เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะของประเทศ วิกฤตินี้ยิ่งกว่าสงคราม คนเดือดร้อนกันทั้งแผ่นดิน การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้เงิน แต่การกู้เงินหนึ่งล้านล้านบาท จะทำให้พวกเราเป็นลูกหนี้ร่วม ส่งมรดกหนี้ให้คนรุ่นหลัง จึงจำเป็นมากที่คนรุ่นเรา โดยเฉพาะรัฐบาลต้องใช้เงินกู้มาแก้ไขวิกฤติให้ตรงเป้า  ไม่ให้ทุจริต เพื่อไม่ให้เด็กรุ่นหลังมาชี้หน้าด่าว่าเราสร้างภาระให้พวกเขา

 

จากรายงาน สรุปผลการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2563

 

ที่ประชุม ส.ว. เห็นชอบ พ.ร.ก. เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 242 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่เห็นด้วย 0 เสียง

 

พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs ที่ประชุม ส.ว.เห็นชอบด้วยคะแนน 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่เห็นด้วย 0 เสียง

 

เช่นเดียวกับ พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ ส.ว.เห็นชอบด้วยคะแนน 243 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่เห็นด้วย 0 เสียง

 

พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท (พ.ร.ก. เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท)

 

การลงมติสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา
เห็นชอบ274242
ไม่เห็นชอบ00
งดออกเสียง 2074
ไม่ลงคะแนน0-
จำนวนผู้เข้าประชุม481246
จำนวนวันอภิปราย52

 

พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs)

 

การลงมติสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา
เห็นชอบ275244
ไม่เห็นชอบ10
งดออกเสียง 2053
ไม่ลงคะแนน0-
จำนวนผู้เข้าประชุม481247
จำนวนวันอภิปราย52

 

พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท (พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้)

 

การลงมติสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา
เห็นชอบ274243
ไม่เห็นชอบ1950
งดออกเสียง 124
ไม่ลงคะแนน1-
จำนวนผู้เข้าประชุม482247
จำนวนวันอภิปราย52