ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง นายกฯ มีอำนาจออกประกาศ “จับ-ค้น-ยึด-ควบคุมตัว”

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง นายกฯ มีอำนาจออกประกาศ “จับ-ค้น-ยึด-ควบคุมตัว”

เมื่อ 15 ต.ค. 2563
15 ตุลาคม 2563 เวลา 4.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มาตรา 11 ที่ระบุว่า ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี  มีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง
 
 
หรือหมายความว่า องค์ประกอบของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงคือ ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
 
(1) มีการก่อการร้าย
 
(2) มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
 
(3) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล 
 
 
ทั้งนี้ ต้องมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
 
 
อย่างไรก็ดี จากประกาศของนายกฯ ระบุเหตุผลแต่เพียงว่า “มีบุคคลหลายกลุ่ม ได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นนวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน
 
 
มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง”
 
 
ซึ่งจากประกาศดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า มีความขัดแย้งต่อสภาพที่แท้จริงของการชุมนุม เพราะการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีการใช้พื้นที่สาธารณะแต่ก็เป็นเพียงการสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้ใช้รถและถนน หาได้มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลไม่
 
 
โดยหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นายกฯ สามารถออกประกาศให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐได้ ดังนี้
 
(1) ลักษณะข้อห้าม (เฉพาะพื้นที่กรุงเทพ)
 
๐ ห้ามชุมนุมและมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
๐ ห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบความมั่นคงของรัฐ
๐ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางที่กำหนด
๐ ห้ามใช้ เข้าไป อยู่ใน หรือให้ออกจากอาคารหรือสถานที่ใดๆ ที่รัฐกำหนด
 
(2) อำนาจที่ใช้จัดการ
 
๐ อำนาจจับกุมและควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน (สูงสุด 30 วัน)
- บุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
๐ อำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวเพื่อให้ถ้อยคำ เอกสาร หรือหลักฐาน
๐ อำนาจยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร อาวุธ สินค้า หรือวัตถุอื่นใด
๐ อำนาจตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง
๐ อำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดๆ
 
(3) ผู้มีอำนาจสั่งการและผู้ปฏิบัติงาน
 
๐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง
๐ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
๐ ให้ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่