รอบอาทิตย์ที่ 3 เดือนตุลาคม

รอบอาทิตย์ที่ 3 เดือนตุลาคม

เมื่อ 21 ต.ค. 2553

 

ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับมุมกฎหมาย ในรอบสัปดาห์ที่สาม ของเดือนตุลาคม

สว.กระทุ้งรัฐเร่งออกกฎหมายตามรธน.
ในการประชุมวุฒิสภาสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพิจารณากระทู้ถามเรื่อง ปัญหาความล่าช้าในการออกกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้มาแล้ว 3 ปีปรากฎว่าฝ่ายบริหารที่ผ่านมามีการออกกฎหมายตามบทบัญญัติน้อยมาก โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังการเลือกตั้งหลายฉบับ อาทิ การส่งเสริมและคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ กฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม กฎหมายเกี่ยวกับขันตอนและวิธีการดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลระหว่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เป็นต้น

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ชี้แจงว่า ปัญหานี้รัฐบาลทราบดีมาตลอดจึงได้เร่งผลักดันกฎหมายที่รัฐธรรมนูญบัญญัติออกมา แต่สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งล่าสุดตอนนี้มีกฎหมาย 4 ฉบับที่อยู่ในระหว่างการทูลเกล้าฯประกอบด้วย 1.ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชน 2.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน 3.ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ 4. ร่างพ.ร.บ.องค์กรปฏิรูปกฎหมาย ขณะที่ มีกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 10 ฉบับ ในขั้นตอนของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) 10 ฉบับ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 ฉบับ "ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ได้เร่งเดินหน้าให้มีการ ผลัก ดันกฎหมายออกมาเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่ง คือ ที่ผ่านมาการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง จึงมีผลให้การผลักดันกฎหมายตามรัฐธรรมนูญต้องล่าช้าออกไป" นายองอาจ กล่าว


มท.เตรียมรองรับการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ
นายวัลลภ พริ้งพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการกำหนดอัตราส่วนการรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในจำนวนผู้ปฏิบัติงาน ๑๐๐ คนต่อคนพิการ ๑ คน


'ไอซีที'สั่งเข้มปราบเว็บหมิ่นสถาบัน
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เปิดเผยว่า ไอซีทีเตรียมปรับปรุงศูนย์ให้บริการคอลเซ็นเตอร์ภาครัฐ โดยต้องการให้ทั้งสองแห่งให้บริการ 7 วัน 24 ชั่วโมงจากที่ผ่านมาให้บริการเฉพาะวันและเวลาราชการเท่านั้น ส่งผลให้การทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากนี้ นายจุติยังกล่าวว่า ไอซีทีได้ขอให้ไอเอสพีเข้มงวดในการสกัดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมะสม โดยนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์2550 ไปบังคับใช้กับเว็บไซต์ที่ผ่านไอเอสพีรายนั้นได้ทันที หลังพบว่าขณะนี้ได้มีการเผยแพร่ภาพหมิ่นสถาบันลงบนเว็บไซต์กว่า 80% นอกจากนี้ ยังได้ประสานงานกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตหากไอเอสพีไม่ได้ให้ความร่วมมือ


ต่ออายุซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์
นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่านน.ส.พ.มติชนว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 53 กรมควบคุมโรคได้ออกประกาศต่ออายุซีแอลยา 2 รายการ คือ ยาอีฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) และยาคาเล็ตตร้า (Kaletra) ซึ่งจะหมดอายุซีแอลในเดือน ธ.ค. 54 และม.ค. 55 ตามลำดับ โดยได้ต่ออายุออกไป

ยาอีฟาไวเรนซ์จะหมดสิทธิบัตรในวันที่ 31 มกราคม 2555 ส่วนยาคาเล็ตตร้าจะหมดสิทธิบัตรวันที่ 4 ธันวาคม2559 ยาต้านไวรัสเอดส์ทั้ง 2 ชนิด จะครอบคลุมผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ทุกสวัสดิการ ทั้งผู้ป่วยบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานส่วนท้องถิ่นสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ และสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ด้วย โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้ยานี้  การใช้ให้อยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์"


ชาวแปดริ้วต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 53 กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาหินซ้อน กว่า 200 คน รวมตัวหน้าศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา ให้ย้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทเนชันแนล พาวเวอร์ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในโครงการพนมพัฒนาของกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผลจำกัด หรือ ดับเบิ้ลเอ ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างขึ้นในพื้นที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารถาม


กองทัพภาค 3 ค้นศูนย์อพยพบ้านแม่หละ ป้องกันกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่า
พ.อ.กนพดล วัชรจิตบวร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด จ.ตาก และนายฉลองชัย อร่ามรุ่งโรจน์ ปลัดอำเภอท่าสองยาง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราว ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า บ้านแม่หละ ตำบลแม่หละ ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด รวมทั้งกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่ 344 อ.ท่าสองยาง กว่า 100 นาย เข้าตรวจค้นพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละโดยกระจายกำลังไปยังหลายจุด และตรวจบ้านเป้าหมาย

การปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการสนองนโยบายของกองทัพภาคที่ 3 และในโอกาสที่ทาง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก มีแผนจะไปเยือนประเทศพม่าในเร็วๆ นี้ และเป็นการป้องกันไม่ให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่พักพิง ในช่วงที่ทางการพม่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 7 พ.ย. 53

การบุกค้นครั้งนี้ พบกัญชาแห้งบรรจุในถุง น้ำหนักประมาณกว่า 1 กิโลกรัม เงินสดจำนวนหนึ่ง , อาวุธปืนลูกซอง 3 กระบอก และเครื่องหมาย สัญลักษณ์ ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง จึงตรวจสอบยึดไว้ พร้อมควบคุมผู้ลี้ภัยกว่า 10 คน ไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


กทม.ไล่บี้ป้ายผิดกฎหมาย เจอปุ๊บติดสติ๊กเกอร์ทับ

นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ระดมจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมายทั่วกรุงเทพฯ เนื่องจากมีผู้ติดตั้งป้ายโฆษณาโดยผิดกฎหมายในที่สาธารณะและที่เอกชนจำนวนมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมา

โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552-ก.ย.2553 สามารถจัดเก็บป้ายได้ทั้งสิ้น 999,840 ป้าย เขตบางกอกน้อยมากสุด 197,289 ป้าย รองลงมาคือเขตวังทองหลาง 163,114 ป้าย
       
โดยได้สั่งการให้สำนักงานเขตโดยฝ่ายเทศกิจและฝ่ายรายได้ตรวจสอบการติดตั้งป้าย ผิดกฎหมายในที่สาธารณะและที่เอกชนว่าได้ดำเนินการขออนุญาตและติดตั้งถูกต้อง หรือไม่ หากไม่ถูกต้องปิดสติกเกอร์ “ป้ายผิดกฎหมาย” หากเป็นป้ายในที่สาธารณะไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด ให้จัดเก็บออกไป ถ้าทราบตัวผู้กระทำผิดจะจัดเก็บและเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.ภาษีป้าย ส่วนกรณีป้ายผิดกฎหมายในที่เอกชนจะปิดสติกเกอร์ป้ายผิดกฎหมายและจัดเก็บภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย


เกษตรกรเตรียมล่ารายชื่อ ร้องนายกฯ เลิกห้ามเลี้ยงกุ้ง
กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ภาคกลาง ทั้งจากอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เตรียมล่ารายชื่อเสนอต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชะลอ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ห้ามเกษตรเลี้ยงสัตว์น้ำความเค็มต่ำในบางพื้นที่ใน 55 จังหวัดทั่วประเทศเนื่องจากมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในเรื่องของคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมลงมาตรวจสอบและวิจัยคุณภาพน้ำว่ากระทบกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

นายอนุเดช เชี่ยวชาญวิลิตชกิจ นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า จากมติ ครม. ทำให้เกิดผลกระทบกับเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวน 55 จังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นอาชีพดั้งเดิมที่ทำมากว่า 20 ปีแล้ว และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ประยุกต์ในการเลี้ยง เช่น นำกุ้งขาวแวนาไม จากรัฐฟลอริดา และรัฐฮาวาย มาเลี้ยงผสมผสาน สามารถเพาะพันธุ์กุ้งเพสผู้ได้ทั้งหมด อีกทั้งยังปลอดสารพิษด้วย ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดที่ต้องการกุ้งตัวโต โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอบางแพจังหวัดราชบุรี เลี้ยงกุ้งและปลาประมาณ 80 % ของพื้นที่ ประมาณ 3,657 ไร่ จำนวนมากกว่า 200 ราย ผลิตกุ้งได้ปีละกว่า 6,494 ตัน ส่งออกต่างประเทศปีละกว่าสองหมื่นล้านบาท


ร่างข้อมูลส่วนบุคคลจ่อคิวเข้าสภา
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... ถูกจัดเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จัดเป็นวาระเรื่องด่วนที่หนึ่ง สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 20-21 ต.ค. ที่ผ่านมา