
ยาพิษร้ายตัวหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สอดไส้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็คือนวัตกรรมทางการเมืองที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งเกิดขึ้นตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ โดยนอกจากขั้นตอนการร่างที่มีแต่คนของ คสช. และปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนแล้ว ยังมีการบังคับให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนต้องแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และหากมีข้อสงสัยว่ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติและส่อทุจริต คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาได้อีกด้วยที่ผ่านมายุทธศาสตร์ชาติอาจจะยังไม่ได้เผยพิษสงออกมาให้เห็นนักเนื่องจากผู้ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้เป็นหนึ่งในคณะผู้ร่างและ “พวกเดียวกัน” กับกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลาย แต่หากวันใดที่อำนาจรัฐเปลี่ยนมือไปอยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมือง กลไกที่ออกแบบมาให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจเหนือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็พร้อมจะเผยพิษร้ายออกมา
ทั้งนี้ การมียุทธศาสตร์ในฐานะแม่บทใหญ่ของการพัฒนาอาจจะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้การพัฒนาสามารถเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในขณะที่ก็ยังคงความต่อเนื่องเพื่อจะได้นำพาประเทศไปสู่จุดหมายได้ อย่างไรก็ดี แม้แต่ละสังคมจะมีความจำเป็นหรือเงื่อนไขที่ต่างกันจนทำให้เนื้อหาของยุทธศาสตร์ออกมาไม่เหมือนกัน แต่การจะทำให้ยุทธศาสตร์มีประสิทธิภาพและเป็นตัวแทนของ “อนาคต” ของชาติอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงอาวุธทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้กระบวนการจัดทำนั้นเป็นประชาธิปไตยผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ
แม้ยุทธศาสตร์ชาติของไทยดูจะมีภาพลักษณ์ในการสืบทอดอำนาจมากกว่า แต่ก็มีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการมียุทธศาสตร์ชาติที่เป็นประชาธิปไตย มีการตรวจสอบและทบทวนจากหลากหลายภาคส่วน และวางรากฐานสู่อนาคตอย่างแท้จริง