รัฐสภารับหลักการร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองจากครม.-พรรคร่วมรัฐบาล คว่ำร่างพรรคฝ่ายค้านเรียบทุกฉบับ

รัฐสภารับหลักการร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองจากครม.-พรรคร่วมรัฐบาล คว่ำร่างพรรคฝ่ายค้านเรียบทุกฉบับ

เมื่อ 25 ก.พ. 2565
25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) มีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งมีการเสนอรวมกันหกฉบับ ประกอบด้วย ร่างรัฐบาล, ร่างพรรคพลังประชารัฐสองฉบับ, ร่างพรรคเพื่อไทย ร่างพรรคก้าวไกล และร่างพรรคประชาชาติ โดยการพิจารณาในวันนี้เป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งในวันดังกล่าว รัฐสภาได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ทั้งสี่ฉบับ จากนั้นจึงพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองต่อแต่พิจารณาไม่แล้วเสร็จในวันเดียว จึงต้องยกมาพิจารณาต่อในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
 
โดยร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีจุดร่วมที่เหมือนกันในประเด็นทางเทคนิคที่ทำให้การบริหารจัดการพรรคยากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกทุนประเดิมตั้งพรรคการเมือง 1,000,000 บาท การลดค่าทำเนียบบำรุงพรรครายปี และลดหรือยกเลิกค่าสมาชิกพรรคตลอดชีพที่สูงเกินไป รวมทั้งแก้ไขการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่แก้ไขให้ใช้เขตจังหวัดแทนเขตเลือกตั้ง 
 
นอกจากนี้แล้ว ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ ยังเสนอแก้ไขในประเด็นการครอบงำพรรคการเมืองจากคนนอก เพื่อลดเงื่อนไขทางกฎหมายในการยุบพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามประเด็นนี้นับว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับฝ่ายรัฐบาลและส.ว. จนทำให้ ส.ว.บางรายประกาศจะไม่รับร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย
 
ในตอนท้ายรัฐสภามีมติ “รับหลักการ” ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองเพียงสามฉบับเท่านั้น คือร่างที่เสนอโดยครม. และร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐสองฉบับ ขณะที่ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคฝ่ายค้านสามฉบับ รัฐสภามีมติ “ไม่รับหลักการ” ทั้งหมด โดยคะแนนเสียงที่รัฐสภาลงมติในร่างแต่ละฉบับ มีดังนี้
 
 
 
 
 
 
ร่างที่เสนอโดยครม.
เห็นด้วย 598 เสียง
ไม่เห็นด้วย 11 เสียง
งดออกเสียง 14 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
 
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (โดยวิเชียร ชวลิต)
เห็นด้วย 578 เสียง
ไม่เห็นด้วย 19 เสียง
งดออกเสียง 26 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
 
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (โดยอนันต์ ผลอำนวย)
เห็นด้วย 408 เสียง
ไม่เห็นด้วย 184 เสียง
งดออกเสียง 28 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
 
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย
เห็นด้วย  220 เสียง
ไม่เห็นด้วย 371 เสียง
งดออกเสียง 34 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
 
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล
เห็นด้วย 204 เสียง
ไม่เห็นด้วย 381 เสียง
งดออกเสียง 34 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
 
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติ
เห็นด้วย 206 เสียง
ไม่เห็นด้วย 375 เสียง
งดออกเสียง 37 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
 
 
 ร่างครม.

ร่างพลังประชารัฐ

(วิเชียร ชวลิต)

ร่างพลังประชารัฐ

(อนันต์ ผลอำนวย)

ร่างเพื่อไทยร่างก้าวไกลร่างประชาชาติ
เห็นด้วย598578408 220 204206
ไม่เห็นด้วย1119184371381375
งดออกเสียง14 262830 3437
ไม่ลงคะแนน0 0 1110
 
 
ภายหลังจากร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง สามฉบับผ่านวาระหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ต่อไป ซึ่งร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ใช้กมธ.ชุดเดียวกันกับร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ที่รัฐสภารับหลักการไปเมื่อวานนี้ และรัฐสภามีมติให้ใช้ร่างฉบับที่เสนอโดยวิเชียร ชวลิต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นร่างหลักในการพิจารณา