ต่างจุดยืน ต่างความเห็น : กฎหมายอาญามาตรา 112 ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ต่างจุดยืน ต่างความเห็น : กฎหมายอาญามาตรา 112 ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

เมื่อ 28 ก.พ. 2554

สำหรับสังคมไทย เมื่อพูดคำว่า “หมิ่นฯ” อาจหมายความได้ถึง “หมิ่นประมาทบุคคล” หรือ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

มาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท โทษคือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี”

เนื้อความกฎหมายว่าด้วยโทษจากการหมิ่นเบื้องสูง หรือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นหลักการหนึ่งที่อยู่ในกฎหมายไทยมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นเนื้อความที่จำเพาะเป็นพิเศษสำหรับคุ้มครองประมุขของประเทศ พระราชินี และรัชทายาท ในฐานะของสถาบันที่ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ

โทษของการหมิ่นเบื้องสูง มีความพิเศษ ที่แตกต่างไปจากโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคล นั่นคือ การหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปมีข้อยกเว้น สำหรับกรณีที่เป็นความเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม และพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริงที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่การหมิ่นเบื้องสูง ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่าไม่มีข้อยกเว้น

แม้วันนี้ ระบอบการปกครองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ว่ากันว่า ความคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นฝังลึกในสังคมไทย เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และสิ่งที่เรียกกันว่า “จิตวิญญาณความเป็นไทย” อย่างยากจะแยกพ้น

และไม่เพียงเท่านั้น อาจยังต้องกล่าวว่า กฎหมายมาตรานี้เกี่ยวข้องกับเรื่อง “สิทธิ” ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง สิทธิในความเชื่อในมโนธรรม และอีกด้านหนึ่งคือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้หลายครั้ง มาตรา 112 ถูกตั้งคำถามว่า ตัวบทกฎหมายนี้ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถสร้างความสมดุลในสิทธิทุกๆ ด้านหรือไม่

 

หมิ่นฯ หรือ วิพากษ์ : คำถามถึงกรอบเจตนารมณ์กฎหมาย

ในเนื้อความกฎหมาย คำว่า “ดูหมิ่น” ถูกเลือกใช้ในหลายๆ โอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับจากวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่สังคมไทยแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ตั้งป้อมเป็นศัตรูกันอย่างชัดแจ้ง โดยพยายามหาเหตุมาอธิบายความเลวร้ายของอีกฝ่ายหนึ่งได้ไม่เว้นแต่ละวัน ข้อกล่าวหาที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามได้มากที่สุดคงไม่พ้นการกล่าวหาว่าอีกฝ่าย “หมื่น” สถาบันเบื้องสูงของสังคมไทย

การกล่าวหากันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ทั้งบนเวทีไฮค์ปาร์ก สื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก และการดำเนินคดีมุ่งเอาผิดกันอย่างจริงจัง บุคคลที่มีสถานะทางการเมืองถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก เจตนารมณ์ของกฎหมาย และวิธีการบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

 

               “ต้องเข้าใจครับว่าเรื่องคนด่าเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ ถ้าเขาไม่ด่าต่อหน้าก็ต้องด่าลับหลัง แล้วสมัยนี้มีเว็บไซต์ บางทีก็จับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ครับ วิธีห้ามมีอย่างเดียวคือ ถ้าเขาพูดมามันจริงก็ต้องแก้ไขเสีย...

               ...เหมือนคุณเป็นครูสอนลูกศิษย์ในชั้นเรียน ถ้าเขาเถียงคุณไม่ได้ เขาก็ไปด่าคุณลับหลัง ถ้าคุณเป็นครูที่ดี ต้องให้เขาเถียงคุณได้ ด่าคุณต่อหน้าได้ สังคมจึงจะเจริญงอกงาม เพราะสังคมที่เจริญงอกงามคือสังคมที่มนุษย์สามารถสื่อกันได้ เถียงกันได้ ถกกันได้ ไม่เห็นด้วยกันแต่เคารพอีกฝ่ายหนึ่ง ผมว่าสังคมไทยมีโอกาสเป็นไปอย่างนี้ได้ และจะเติบโตมากขึ้น”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

          

               "คำว่า 'ดูหมิ่น' อาจมีปัญหาในการตีความ เพราะความหมายมันกว้าง และโดยเหตุที่ไม่มีข้อยกเว้น ต่อให้พูดเรื่องจริงก็ผิด... เพราะเราไม่ได้มีการยกเว้นเอาไว้"

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “ภาพพจน์แห่งความดีงามของสิ่งๆ หนึ่งจะตัดขาดจากความเป็นจริงทุกประการที่เกี่ยวกับสิ่งๆ นั้นได้อย่างไร และมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามที่สุดที่เป็นไปได้ ได้อย่างไร หากเขาไม่สามารถรู้ความจริงทุกประการที่อยู่ในอำนาจที่เขาจะรู้ได้”

เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “สถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนจากเทพมาจุติเป็นระบอบฉันทานุมัติ คือการพึงใจยินยอม ยอมรับด้วยความสมัครใจในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมาจากพระคุณไม่ใช่พระเดช ไม่มีอำนาจรัฐบังคับให้ยอม ดังนั้นผู้ที่เสนอให้ยอมรับในพระเดชจะทำให้สถาบันเดือดร้อน และผลักประเทศไปสู่ระบอบเผด็จการโดยไม่รู้ตัว”

เกษียร เตชะพีระ

ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ

 

                “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เป็นตัวแทนการเล่นงานสิทธิเสรีภาพในการพูด สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างโหดร้าย ผลกระทบคือ เราไม่มีประชาธิปไตยที่เต็มใบ และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยของเราจากนานาประเทศ”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ที่มา : เว็บไซต์ thaibalsta.org

 

การบังคับใช้กฎหมาย

ตามที่กล่าวมาแล้วว่า มาตรา 112 ถูกเรียกว่าเป็นกฎหมายที่อิงกับวัฒนธรรมของสังคมแบบไทยๆ และผูกพันกับจิตวิญญาณความเป็นไทย ด้วยสถาบันที่เป็นที่รักและหวงแหน ความผิดตามมาตรานี้จึงถูกจัดอยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเปิดช่องให้ใครก็ตามเป็นผู้กล่าวหา แจ้งความดำเนินคดีได้ ต่างจากกรณีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ที่ให้สิทธิการฟ้องร้องแก่ “ผู้เสียหาย” โดยตรงเท่านั้น

กฎหมายมาตรานี้จึงเป็นอาวุธที่ทุกคนสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้กันได้อย่างกว้างขวาง

 

               “ปัญหาที่น่าหนักใจก็คือ การฉ้อฉลใช้กฎหมายนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง เพราะกฎหมายอนุญาตให้ใครก็ได้กล่าวหาใครก็ได้ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาท ที่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้ กฎหมายหมิ่นฯ จึงกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ฉวยใช้ง่ายเหลือเกิน”

ธงชัย วินิจจะกูล

ที่มา : นสพ. เดอะเนชั่น

 

                “คนที่ถูกดำเนินการจะอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายที่มีอำนาจ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นผู้มีอำนาจพูดเฉี่ยวๆ บ้าง เช่น เฮ้ย อยากให้ลาออกให้มากระซิบที่ข้างหู สมมติว่ามีคนไปแจ้ง ผมเชื่อว่าไม่มีการดำเนินการ อย่างนี้ล่ะที่เรียกว่า มันถูกใช้ในทางการเมือง คือผู้มีอำนาจใช้มันเป็นประโยชน์กับตนเองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อไรที่ผู้มีอำนาจพูดเฉี่ยวๆ บ้าง ผมเชื่อว่าไม่มีการดำเนินการ อันนี้คือปัญหา...

                ...สุดท้ายบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็ถูกแทรกแซงจากแรงกดดันทางการเมืองและสังคมอยู่ดี โดยเฉพาะคดีที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ที่มา : เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

               “ถามว่าตำรวจไทยเมื่อได้รับคดีร้องทุกข์อย่างนี้จะกล้าบอกไหมว่าการร้องทุกข์นั้นฟังไม่ขึ้น ประกอบกับการกระพือข่าวก่อนที่จะมีการกล่าวหาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะไม่ทำคดี ดังนั้น ในที่สุด ทุกคนก็ผ่านจากขั้นตำรวจไปถึงขั้นอัยการ ซึ่งสำหรับคดีนี้ อัยการส่วนใหญ่หรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็คงต้องฟ้องไปก่อนแล้วให้ไปว่ากันที่ศาล”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “การดำเนินคดีในข้อกล่าวหาคดีหมิ่นฯ คลุมเครือ ไม่แน่นอน ไร้หลักประกัน แค่ถูกกล่าวหาก็เหมือนถูกพิพากษาแล้ว รวมถึงถ้อยคำที่ไม่อยู่ในกฎหมาย แต่ถูกใช้อยู่ตลอดเวลา เช่น คำว่าจาบจ้วง เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเห็นถูกนำไปใช้ตัดสินในกระบวนการยุติธรรม”

จีรนุช เปรมชัยพร

ที่มา : นสพ. ไทยโพสต์

 

ความคิดเห็นที่แทบจะไม่ได้ยินเสียงคัดค้าน คือการยอมรับว่า ปัจจุบันกฎหมายมาตรานี้ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม มากกว่าการใช้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น และสถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เลย

 

                “ในหลวงในฐานะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฯ ก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกับเราทั้งหลาย ก็ต้องใช้กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ตอนนี้เราไปพยายามสร้างพระเจ้าอยู่หัวเป็นเทวราชไม่ใช่สมมุติเทพ อันนี้เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “ยิ่งมีการฟ้องร้องข้อหานี้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศมากเท่านั้น เพราะถ้าเราตีความในมุมกลับ หากมีการกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาก ก็หมายความว่า เดชานุภาพของพระมหากษัตริย์มีข้อบกพร่อง จึงมีคนหมิ่นบ่อยๆ มิพักต้องกล่าวถึงกรณีหากเป็นคดีความขึ้นในศาลซึ่งคู่ความอาจต้องให้การบางอย่างบางประการอันอาจกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นไปอีก”

ปิยบุตร แสนกนกกุล

ที่มา : เว็บไซต์ เครือข่ายนักกฎหมายมหาชนไทย

 

หลากข้อเสนอถึงมาตรา 112

ไม่เพียงเฉพาะการตั้งคำถามต่อหลักการของกฎหมายและวิธีการนำมาใช้ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้เท่านั้น ผู้คนหลายกลุ่มในสังคมตระหนักถึงบรรยากาศแห่งความกลัวที่ปกคลุมอยู่ทั่วไปในสังคมการเมืองไทยอันอาจเรียกได้ว่า มันเป็นผลข้างเคียงจากการบังคับใช้ภายใต้ความวุ่นวายทางการเมือง และเพื่อปรับตัวให้ทันกับกับกระแสโลกาภิวัตน์และความวุ่นวายของเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้เสียเลย

 

               “ไม่มีอารยะประเทศไหนในโลกที่ยังมีกฎหมายตกยุคแบบนี้แล้ว ถ้ามีประชาธิปไตยก็ต้องมีสิทธิในการพูด วิจารณ์ แสดงออก ไม่เช่นนั้น คนที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์หรือเป็นสมาชิกราชวงศ์ก็สามารถทำอะไรก็ได้ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส มันเป็นกฎหมายที่แสดงถึงความกลัวของพวกอนุรักษ์นิยม เพราะกลัวว่าถ้าเปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็น จะเริ่มเห็นชัดว่าประชาชนไทยคิดต่างมากมาย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ที่มา : เว็บไซต์ สยามปริทัศน์

 

                “สังคมใดก็ตามที่ความเห็นต่างไม่ได้รับการยอมรับ หรือไปถึงขั้นกลายเป็นอาชญากรรม เป็นสังคมที่ในที่สุดทำให้ประชาชนต้องคิดเหมือน หรือไม่ต้องคิดเลย สังคมแบบนี้น่าจะเป็นสังคมที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ”

ศรีประภา เพชรมีศรี

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

                “หากเรายอมรับ ยอมให้วัฒนธรรมความกลัวและความเงียบเป็นเรื่องปกติเมื่อใด และชาชินกับมัน ไม่ตั้งคำถามต่อสภาพที่เป็นอยู่ เราก็ไม่มีทางเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์และมีศักดิ์ศรีได้ ทางออกทางเดียวคือ ต้องสู้และสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับและเชิดชูเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก เพราะมันคือเสาหลักอันสำคัญของสังคมประชาธิปไตย”

ประวิตร โรจนพฤกษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

แน่นอนว่าข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ขัดกับความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อย ความคิดเห็นที่ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนการคงอยู่ จึงน่ารับฟังเช่นกัน

 

               “จริงอยู่ แม้ว่าหลักการประชาธิปไตยจะเชิดชูความเสมอภาคและเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการโฆษณาความคิดเห็นก็จริง แต่ความเสมอภาคก็ไม่ใช่ความเสมอภาคแบบเถรตรงซื่อๆ ซึ่งทำให้การเลือกปฏิบัติทุกประเภทกลายเป็นขัดหลักความเสมอภาคหมด ทั้งๆ ที่การเลือกปฏิบัติบางอย่างมีเหตุผลและความจำเป็น...

               ...ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกก็แตกต่างกันไป การให้ความหมายของคำว่า “ความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย” ก็มีปัญหาเรื่องขอบเขตและระดับที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ...

               ...ถ้าเราถือว่าทั้งโลก ความถูก-ผิดมีเพียงหนึ่งเดียว และความถูกผิดเพียงหนึ่งเดียวนั้นก็คือที่ 'เรา' เท่านั้นเชื่อว่าถูกหรือผิด เราก็คือผู้เผด็จการทางจริยธรรม ที่ต้องการเอาสิ่งที่เราเชื่อขึ้นเป็นมาตรฐานของคนทั้งโลก...

               ...คงไม่มีใครที่มีจิตใจประชาธิปไตยไปตัดสินว่าประเทศหรือสังคมเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพียงเพราะสังคมนั้นๆ มีวัฒนธรรมและจริยธรรมอันแสดงให้เห็นข้อจำกัดทางสังคมแตกต่างจากสังคมของตน”

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชน

 

               “ความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของประเทศเรา จึงอยู่เหนือความเข้าใจของประเทศอื่น เพราะเขาไม่เหมือนเรา นี่เป็นเหตุผลภายในของเรา เราจัดชั้นเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นความผิดด้านความมั่นคงแห่งรัฐ...

              ...สมมติว่าผมไปวิพากษ์วิจารณ์คุณพ่อคุณแม่คุณ (หมายถึงผู้สื่อข่าว) ได้ไหม (นักข่าวตอบ 'ไม่ได้') ผมบอกว่า มันสิทธิเสรีภาพผม ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้? ... นั่นคือ พ่อเรา เรายังบอกไม่ได้ แล้วนี่พ่อของแผ่นดิน ได้ไหม ก็แค่นี้ล่ะครับ”

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการ

 

               “ปัญหาอยู่ที่ความไม่เด่นชัดของข้อความในมาตรา 112 ว่า การดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเป็นอย่างไร ทำให้การตีความเป็นไปตามมุมมองของแต่ละคน...

               …ถ้าผู้บังคับใช้กฎหมายตีความตรงไปตรงมาก็ไม่มีปัญหา เพราะหากแก้กฎหมายแล้ว ผู้บังคับใช้ไม่เปลี่ยนแปลงก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก”

ทองใบ ทองเปาว์

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันสุดขั้ว การพิจารณาเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย กับวัฒนธรรมความเชื่อของคนในชาติ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง และมีความหมายที่ใหญ่เกินกว่าฝ่ายหนึ่งจะยอมหลีกทางให้อีกฝ่ายหนึ่ง

เพื่อที่จะให้หลักการทั้งสองเดินคู่กันไปได้อย่างสมดุล จึงมีข้อเสนออีกหลากหลาย เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์บทบาทของกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสังคมไทยครั้งนี้

 

                “สังคมไทยน่าจะถวายของขวัญแก่พระองค์หรือมอบแก่คณะองคมนตรีด้วยความสุขุมรอบคอบในการจัดการปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ แก้ไขมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ด้วยการเติมประโยคที่ว่า การฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับพระราชบัญชาหรือความเห็นชอบจากพระองค์ท่านเท่านั้น”

เดวิด สเตร็คฟัส

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมอยากเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่นักกฎหมายต้องตีความโดยเคร่งครัด แล้วนำเสนอต่อสำนักเลขาฯ ก่อนว่า มีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร ไม่ใช่ตีความอย่างกว้างขวาง จนเกิดความเสียหายอย่างที่ผมเล่ามาทั้งหมด”

วสันต์ พานิช

ที่มา : เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

               “ควรมีบุคคลหรือองค์กรในระดับสูง ซึ่งไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยทางหนึ่งทางใด อาจเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้วเช่น อัยการสูงสุด รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรี หรือตั้งองค์กรใหม่ขึ้นกลั่นกรองก่อนจะอนุมัติให้ดำเนินคดีได้ อย่าปล่อยให้ใครๆ ก็สามารถตั้งตัวเป็นโจทย์ฟ้องร้องได้ และปล่อยให้ตำรวจชั้นผู้น้อยและอัยการชั้นผู้น้อย ต้องใช้วินิจฉัยของตนเองว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งยากที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยนั้นอย่างเที่ยงธรรม”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา : นสพ.มติชน

 

               “ให้จัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง ในการกลั่นกรองและฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม”

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ

 

               “เราจำเป็นต้องจำกัดบุคคล หรือองค์กรผู้เริ่มต้นที่จะริเริ่มการฟ้องคดี เช่นที่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอไว้ คือ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ฟ้อง เพื่อจะได้เห็นชัด ถ้าเอาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม...

               ...การกระทำต่อสัญลักษณ์ เป็นการตีความที่เลยเถิด...

               ...ปัญหาคือศาลไม่ดูบริบทแวดล้อม หยิบมาเพียงบางส่วน แล้วศาลตัดสินว่าหมิ่นเดชานุภาพ การแก้ก็คือคดีหมิ่นฯ เราต้องแยกว่าเป็นแค่การพูดไม่เหมาะสมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นเราจะกวาดคนจำนวนมากเข้าไปในคดีนี้”

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

ที่มา : เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


               “ถ้าเป็นกฎหมายหมิ่นประมาทโดยทั่วไปมีเหตุยกเว้นโทษได้ แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีการยกเว้นโทษเพราะอ้างกันว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติว่าล่วงละเมิดไม่ได้...

               ...ผมไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปยกเลิก แต่เราย้ายหมวดมาเป็นเรื่องหมิ่นประมาทโดยทั่วไปได้ไหม และกำหนดให้มีองค์กรที่จะเป็นผู้เสียหายแจ้งความ”

ศราวุฒิ ประทุมราช

ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท

 

               “ควรมีการร่างกฎหมายให้มีบทลงโทษแก่กลุ่มบุคคลที่ใช้ ม.112 เพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยเยินยอสรรเสริญสถาบันเบื้องสูงจนเกินงาม และโยนให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ไม่จงรักภักดี ซึ่งถือว่าคนกลุ่มนี้มีเจตนาพิเศษ ที่จะนำกฎหมายความมั่นคง ไปใช้ฉกฉวยประโยชน์ด้วยการอ้างอิงสถาบัน”

ธาริต เพ็งดิษฐ์

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

                 “โทษที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษที่หนักกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราช

                ..ความไม่เป็นธรรมของบทลงโทษมาตรา 112 คือ ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่กษัตริย์ควรอยู่ภายใต้กฎหมาย และขัดกับหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น ทางออกทางเดียวคือการลดโทษในปัจจุบันลงมา อย่างน้อยคือให้เหลือ 7 ปีเท่ากับในมาตรา 116 ไม่ใช่การเพิ่มโทษ...

                ...การตีความกฎหมายโดยศาล สามารถทำให้มีความก้าวหน้า กล้าตีความโดยไม่ยึดติดกับถ้อยคำ อย่างมีจุดประสงค์ที่จะขยายสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ยุติธรรมในสังคมมากขึ้น และตีความในลักษณะลบล้างคำพิพากษาเก่าๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคดีหมิ่น”

จรัญ โฆษณานันท์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “อยากให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้ความสำคัญกับการพิจารณาถึงเจตนาในการล้มล้างสถาบัน หากผู้ต้องหาไม่มีเจตนาก็ไม่ควรถูกลงโทษ อย่านำอารมณ์มาเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย”

วรินทร์ เทียมจรัส

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

                “ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีบทบาท ต้องรู้จักเปลี่ยนให้เข้ากับกาลสมัย หลายอย่างแก้ไขไม่ได้ แต่ก็ต้องทำสิ่งที่แก้ได้ คดีหมิ่นฯ แม้แก้กฎหมายไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่สามารถยุติคดีได้”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

                “เราต้องคุยกันว่าจะธำรงสถาบันกษัตริย์อย่างไร ต้องออมชอมกัน เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจคนทั้งชาติ อยากให้คุยกันในสาระ เพราะหากเพียงใส่เสื้อเหลืองก็มีผลทำให้เจ๊กได้เงินค่าเสื้อแต่สังคมไทยไม่มีการเผชิญปัญหาด้วยสัจจะ”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

ข้อเสนอต่างๆ ทั้งการแก้ไขปรับปรุง ยกเลิก หรือคงไว้ ทำให้ดูเหมือนว่าคนไทยมีความคิดเห็นในประเด็นนี้แตกต่างกันคนละขั้วอย่างชัดเจน แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นไม่ใช่เหตุแห่งความแตกแยก ทุกฝ่ายยังสามารถเคารพความคิดของอีกฝ่าย รับฟังซึ่งกันและกัน เปิดใจและให้โอกาสผู้ที่เห็นต่างแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ได้ เพราะเบื้องหลังของทุกความเห็นก็คือความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ไม่อยากให้มีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในทางการเมือง

และที่สำคัญ การเสนอยกเลิก แก้ไข หรือปรับปรุงกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นคนละเรื่องกับความไม่จงรักภักดี

 

                “แต่ว่าความจริง ก็ต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวว่าถ้าใครจะมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ตรงนั้น จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน...

                ... ฉะนั้นก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิดเขาก็ถูกประชาชนบอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ลงท้ายพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก ก็แสดงว่า ถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวนี้ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี...”
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่มา : พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548

 

 

 

 

 

ที่มาภาพหน้าแรก AraGuim

 

ไม่ควรแก้ไข คงไว้ตามเดิม
7% (14 votes)
ควรแก้ไขเนื้อหา เพื่อส่งเสริมการแสดงความคิดเห็น
18% (38 votes)
ควรยกเลิกทั้งมาตรา
76% (163 votes)
คนโหวตทั้งหมด: 215 คน

Comments

iLaw's picture

[แบบสอบถามต่อเนื่อง]



หากคุณเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ อยากให้แก้ไขอย่างไร

http://ilaw.or.th/node/789

 

“กฎหมายอาญาของไทยเป็นกฎหมายที่มีความเป็นสากล กล่าวคือ ให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐต่างประเทศและผู้แทนของรัฐต่างประเทศด้วย ดังจะเห็นได้จากมาตรา ๑๓๓ และ มาตรา ๑๓๔ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

 มาตรา ๑๓๓ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 มาตรา ๑๓๔ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ดังนั้น ถ้ายกเลิกมาตรา ๑๑๒ ผลตามกฎหมาย ก็คือ ประเทศไทยให้ความคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ แต่ไม่คุ้มครองประมุขของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัยของอารยประเทศอย่างยิ่ง และหากจะยกเลิกมาตรา ๑๓๓ และมาตรา ๑๓๔ ไปพร้อมกับมาตรา ๑๑๒ ผลก็คือ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศป่าเถื่อนในสายตาสังคมโลก และไม่มีประเทศที่เจริญแล้วประเทศใดในโลกคบค้าสมาคมด้วย เพราะไม่ให้เกียรติแก่ประมุขของเขา ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดของประเทศเหล่านั้น”

 

  - “ข้อแตกต่างของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับบุคคลธรรมดาประการแรก ก็คือ มาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่ารัฐเป็นผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ส่วนมาตรา ๓๒๖ เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งถ้าไม่มีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ดำเนินคดีให้ เหตุที่บัญญัติไว้แตกต่างกันเช่นนี้ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่ประมุขของรัฐจะไปฟ้องร้องกล่าวโทษพลเมืองของตนเอง ดังนั้น หากยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ก็เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิของประมุขแห่งรัฐไม่ให้สามารถคุ้มครองตนเองจากการถูกหมิ่นประมาทได้”

    - “มาตรา ๒๘ วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เสรีภาพของบุคคล ย่อมมีข้อจำกัดโดยเสรีภาพอีกคน ดังนั้น จะปล่อยให้คนผู้หนึ่งไปละเมิดเสรีภาพคนอื่นก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเสรีภาพมีขอบเขต ไม่ใช่ไม่มีข้อจำกัด เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน แค่อย่าใช้เสรีภาพไปก้าวล่วงเท่านั้น ก็จะไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒”

    - “การที่มีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ โดยมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของตนนั้น อยากทำความเข้าใจให้ทราบว่า คนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพของตน แต่สิทธินั้นเป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม และจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่นด้วย และทุกคนไม่ควรมองถึงบทลงโทษของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรมองถึงประเด็นที่มีคนบางคน หรือบางกลุ่ม ที่พยายามจะกระทำผิดกฎหมาย โดยการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสถาบันฯ และมองว่าคนผู้นั้นกระทำผิดอย่างไร ได้รับโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้วหรือไม่ เพราะกฎหมายและบทลงโทษในทุกมาตราถูกกำหนดมาเพียงเพื่อป้องปรามการกระทำผิดเท่านั้น หากไม่มีผู้ใดกระทำผิดหรือละเมิดกฎหมายก่อน บทลงโทษนั้นย่อมจะไม่มีผลแต่อย่างใด”

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” 

 

สั้นๆ  แค่นี้ใครยังไม่เข้าใจอีก   จะแก้ไขไปทำไม  แล้วใครที่ได้พระโยชน์  พ่อคุณหรอ