ยื่นรายชื่อหยุด พ.ร.บ.คอมหน้าสภา นายกแจงให้สบายใจยังไม่เข้าครม.

ยื่นรายชื่อหยุด พ.ร.บ.คอมหน้าสภา นายกแจงให้สบายใจยังไม่เข้าครม.

เมื่อ 19 เม.ย. 2554

วันนี้ (19 เม.ย. 54) เวลา 8.30 น. เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) และพลเมืองผู้ร่วมลงนาม นำรายชื่อประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนกว่า 560 ชื่อ ที่ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันแสดงออกเพื่อ “หยุด”การนำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เข้า สู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เสนอโดยกระทรวงไอซีที เพื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนกว่านี้และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง

ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ฉบับใหม่ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับหลักการ และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีแนวโน้มว่าคณะรัฐมนตรีอาจเร่งพิจารณาให้ทันก่อนยุบสภา ซึ่งร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาที่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหลายประการ แต่ยังไม่เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการทำประชาพิจารณ์มาก่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับหนังสือจากสฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต และให้โอกาสตัวแทนเข้าไปพูดคุยภายในอาคารรัฐสภาเป็นเวลาประมาณ 40 นาที หลังจากรับฟังปัญหาข้อร้องเรียนแล้ว นายอภิสิทธิ์ แจ้งว่า ตนไม่เคยทราบเรื่องพระราชบัญญัติฉบับนี้มาก่อน ส่วนตัวเห็นว่าถ้ามีความพยายามจะเสนอก็อยากให้ถอนร่างไปก่อนเพราะไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังไ้ด้โทรศัพท์สอบถามเรื่องดังกล่าวกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน รวมทั้งนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วย ซึ่งนายจุติได้แจ้งกับนายกรัฐมนตรีว่าขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังจะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต และเจ้าของบล็อก fringer.org กล่าวว่า ปัญหาหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือเขียนเนื้อหามาไม่เข้ากับหลักการและเหตุผลที่มุ่งแก้ปัญหาอาชญากรรมทาง คอมพิวเตอร์ดั้งเดิม แต่กลับมีปัญหาเรื่องการนิยามความผิดที่ไม่ชัดเจนและกว้างมาก ส่วนใหญ่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ “ร่างกฎหมายนี้กำหนดโทษที่ละเอียดมากขึ้น จำกัดสิทธิมากขึ้น ต่อไปนี้ใครที่จะแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจก็อาจกลัวมากขึ้น ในขณะที่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะสามารถจับคนที่ทำก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้”

บล็อกเกอร์ชื่อดังกล่าวถึง มาตรา16 ที่กำหนดให้ผู้คัดลอกสำเนาไฟล์โดยมิชอบ มีโทษจำคุก 3 ปีว่า “กฎหมายนี้ตั้งสมมุติฐานว่าผู้ใช้เน็ตทุกคนต้องรู้ที่มาที่ไปและเจ้าของ ลิขสิทธิ์ของเนื้อหาทุกชิ้นที่คอมพิวเตอร์ตัวเองดาวน์โหลด จึงมีคำถามเช่น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อเข้าเว็บไซต์หนึ่งๆ แล้วเนื้อหาอะไร หรือโปรแกรมอะไรที่ถูกกฎหมายบ้าง แค่เข้าไปดูเว็บไซต์เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็ทำ "สำเนา" เนื้อหาเว็บบางส่วน (cache) โดยอัตโนมัติแล้ว ในทางปฏิบัติมันยากมาก เป็นไปไม่ได้”

นายธนกฤต เปี่ยมมงคล นักกฎหมายจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “น่าแปลกใจว่ากรณีการหมิ่นประมาทธรรมดามีโทษจำคุก1ปี หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจำคุก 2ปี แต่การทำให้เสียชื่อเสียงตามร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ มีโทษจำคุก3ปี และกรณีที่กฎหมายมุ่งเอาโทษกับตัวกลาง ทั้งISPทั้งเว็บมาสเตอร์ทุกประเภท และมีโทษจำคุกสูงถึง5ปี ทำให้ตัวกลางต้องเซ็นเซอร์ตัวเองแน่ๆ ซึ่งถ้าหากตัวกลางเกิดความกลัวหนักๆ เข้าย่อมส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทุกๆ เรื่องในสังคม”

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ เว็บไซต์ iLaw.or.th กล่าวว่า “การรวบรวมรายชื่อครั้งนี้ ใช้เวลาไม่ถึงสองวัน คือตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ วันจันทร์ และนำมายื่นในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นอินเทอร์เน็ตตื่นตัวกับกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้า มาจำกัดสิทธิของพวกเขาอย่างมาก การเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าไม่ให้มีการปิดกั้นใดๆ เลย ไม่ได้ต้องการต่อต้านรัฐบาลชุดนี้หรือชุดไหน และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสี เรื่องการเมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ประชาชนที่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับการออกกฎหมาย เพื่อให้ผู้ร่างรับฟังเสียงของประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบก่อนการออกกฎหมาย เท่านั้น”

 

 

 

 

 

 

Comments

jeremy's picture

ขอแหกคิวนิดนึงนะคับ ช่วยกันออกความเห็นเรื่องกฎหมาย ICT ควรจัดตั้งศาลชำนาญพิเศษเฉพาะและใช้ระบบลูกขุนในการตัดสินพิจารณาคดีด้วยคับ http://ilaw.or.th/node/634

เป็นกฏหมายที่ริดรอนสิทธิมากเกินไป แม้ว่าจุดประสงค์ต้องป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ แต่ก็มีช่องโหว่ของกฏหมายที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน ทำให้อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์มีปัญหาได้

ถ้าอยากจะฝากไปถึงคนมีอำนาจ

เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นอะไรที่ซับซ้อน การใช้งานส่วนบุคคลก็เป็นอะไรที่ซับซ้อน การเข้ามาวางกฏหมายบังคับประชาชนโดยทั่วไปนั้น เป็นการริดรอนสิทธิอย่างมาก ถ้าอยากจะจัดการเรื่องละเมิดลิขสิทธิ ช่วยกรุณาปราบปรามร้านค้าขายแผ่นละเมิดลิขสิทธิจะดีกว่ามั้ย หาง่าย จับง่าย แต่ไม่ยอมจับ หลักฐานมีมากมาย ต่อให้เขาไม่มีหนังไทยมาขาย ประเทศไทยไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าคุณไม่จับ นั้นก็เป็นการปล่อยให้มีการละเมิดลิขสิทธิต่อไปเรื่อยๆ แค่ร้านค้าแผ่นละเมิดพวกนี้ยังจับไม่ได้ แล้วยังมีการเสนอมาควบคุมพฤติกรรมประชาชนอีก แย่นะ

"นายอภิสิทธิ์ แจ้งว่า ตนไม่เคยทราบเรื่องพระราชบัญญัติฉบับนี้มาก่อน ส่วนตัวเห็นว่าถ้ามีความพยายามจะเสนอก็อยากให้ถอนร่างไปก่อนเพราะไม่น่าจะ แก้ปัญหาอะไรได้"

นี่หรือนายกไม่รู้เรื่องอะไรกะเค้าเลยคนอื่นเค้ารู้กันกันทั้งน้น

ด.ช.ณภัทร ปัตตะพงศ์

 

ไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้เลย มากๆ ควรถามภาคประชาชนก่อนที่จะยกร่างอะไรออกมาเพื่อบังคับใช้

 

นายกฯคนนี้เคยรู้อะไรบ้างครับ... คุณชวนบอกว่าผมยังไม่ได้รับรายงาน ส่วนคุณอภิสิทธิ์บอกไม่เคยทราบมาก่อน ประเทศชาติกำลังล่มจม คุณอภิสิทธิ์ก็คงไม่รู้อยู่ดี