วาระของนายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยาอยู่ที่คราวละสี่ปีเท่ากัน แต่นายกเมืองพัทยาจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินครั้งละสองวาระไม่ได้
นอกจากนี้ เมืองพัทยายังมีสำนักปลัดเมืองพัทยาเป็นส่วนราชการ โดยมีปลัดเมืองพัทยาเป็นหัวหน้า สำนักปลัดนี้ประกอบไปด้วยสำนักย่อยต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลราชการประจำของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามนโยบายที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย
การปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยในปัจจุบันยังต้องให้ส่วนกลางเข้ามาควบคุมผู้บริหารหรือนักการเมืองท้องถิ่น ไม่เว้นแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษที่มีอิสระมากกว่าอปท. แบบอื่น ๆ ทั้งนี้ เมืองพัทยาจะถูกกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นอำนาจส่วนการปกครองส่วนภูมิภาค ในขณะที่กรุงเทพมหานครจะขึ้นตรงกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ผู้ว่าฯ ชลบุรีมีบทบาทอย่างมากในการควบคุมการทำงานของเมืองพัทยา มาตรา 96 ของพ.ร.บ. เมืองพัทยาซึ่งเพิ่มขึ้นมาใหม่หลังการแก้ไขกฎหมายของสนช. ในปี 2562 ให้อำนาจผู้ว่าฯ ชลบุรีในสั่งให้ชี้แจง ตักเตือน หรือสั่งห้ามการกระทำใดที่เห็นว่าอาจจะส่งผลเสียต่อเมืองพัทยา และหากผู้ว่าฯ ชลบุรีเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกเมืองพัทยา “จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด” ก็สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้นั้นได้
หากผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิด ผู้ว่าฯ ชลบุรีก็สามารถรายงานให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนเองพิจารณาและสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้
ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 38 ระบุผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงไว้ว่า
1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ทั้งนี้ ประชาชนจะต้องตรวจสอบว่าตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบ 1 ปีหรือตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 หรือไม่ หากยังไม่ครบปีเต็มก็จะไม่สามารถเลือกตั้งเมืองพัทยาที่จะถึงนี้ได้ หลักเกณฑ์การให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านถือว่าเป็นสิ่งใหม่ใน พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ โดยกฎหมายก่อนหน้านี้รวมถึงกฎหมายที่ใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส. นั้นกำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น ที่ผ่านมา หลักเกณฑ์นี้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากถูกตัดสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. จนมีการร้องกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
เห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
การเตรียมความพร้อมก่อนมีการเลือกตั้ง
1.
ตรวจสอบรายชื่อตนเอง ก่อนวันเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ก่อนวันเลือกตั้ง 25 วันโดยสามารถดูชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานเขต เขตชุมชนหรือที่เลือกตั้ง หรือหากเป็นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเอกสารที่ส่งมาให้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลและที่เลือกตั้ง ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบทางออนไลน์ได้
ที่นี่
2. การเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ หากภายใน 10 วันก่อนเลือกตั้ง ตรวจสอบแล้วไม่พบชื่อ-นามสกุลตนอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงสามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย
ไปเลือกตั้งต้องเอาอะไรไปบ้าง
- บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ
- บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
ไปถึงหน่วยเลือกตั้งแล้วต้องทำอะไร
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 สามารถเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งของตนเองได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น.
ขั้นตอนการเลือกตั้งมีทั้งหมดห้าขั้นตอน
1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
2. ยื่นหลักฐานที่ใช้แสดงตนในการเลือกตั้ง คือ บัตรประชาชน (หมดอายุก็ได้) หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต
3. รับบัตรเลือกตั้ง โดยลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกนายกเมืองพัทยา และอีกใบหนึ่งสำหรับเลือกสมาชิกสภาเมืองพัทยา
4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมายลงในบัตรทั้งสองใบ
5. นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้ว หย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเลือกตั้งเมืองพัทยาครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือการใช้สิทธิล่วงหน้าเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเดินทางกลับไปที่ภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อเลือกตั้งเท่านั้น
ไปเลือกตั้งไม่ได้ต้องทำอย่างไร
หากปรากฎว่าไม่สะดวกที่จะไปเลือกตั้งในวันที่กำหนด ก็สามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิของตนเอง ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยสามารถทำได้ด้วยด้วยตนเอง หรือ มอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ทั้งนี้การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิต้องเป็นเหตุตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ ดังนี้
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
กรณีที่ได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้
อย่างไรก็ตามหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ได้แจ้งหรือไม่มีเหตุอันควร จะทำให้เสียสิทธิสำคัญทางการเมือง แต่ไม่ได้เสียสิทธิเลือกตั้ง โดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดระยะเวลาการจำกัดสิทธิไว้ที่ครั้งละสองปี โดยสิทธิที่ถูกตัดไปมีดังนี้
1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น