ให้การประปา ไฟฟ้า เก็บค่าบริการแพงกว่าเดิมได้

ข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.รวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย สำหรับพิจารณาโดยประชาชน

เมื่อ 7 พ.ย. 2554
ออกแบบ
3

ให้การประปา ไฟฟ้า เก็บค่าบริการแพงกว่าเดิมได้


 

มาตรา๑๕ หากมาตรการตามมาตรา๑๔ ไม่เพียงพอหรือไม่ทันท่วงทีต่อการแก้ไขวิกฤตสาธารณภัยให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนเป็นการเร่งด่วนโดยการให้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานทางปกครองผู้ให้บริการสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าประปาและโทรคมนาคมมีอำนาจเพิ่มมูลค่าหนี้เกินกว่าความเป็นจริงในใบเรียกเก็บหนี้จากผู้ใช้บริการได้และถือว่ามูลค่าหนี้ที่เกินมาดังกล่าวเป็นหนี้ที่ผู้ใช้บริการต้องชำระโดยปกติตามกฎหมายแต่ให้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานทางปกครองนำส่งเป็นรายได้เฉพาะส่วนดังกล่าวเข้ากองทุนโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการ

การดำเนินมาตรการตามวรรคหนึ่งต้องไม่เรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างมีนัยสำคัญและต้องมีวิธีการให้ผู้ที่ได้ชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเกินกว่าความเป็นจริงสามารถเลือกนำจำนวนเงินที่ชำระดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปหักกลบกับค่าบริการที่แท้จริงในภายหลังได้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หากหน่วยงานทางปกครองผู้ให้บริการสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองให้คณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการตามวรรคหนึ่งเท่าที่เหมาะสมและจำเป็นแก่หน่วยงานทางปกครองนั้น

ผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้อธิบายว่าแนวคิดการจัดเก็บเงินจากสาธารณูปโภคนี้มีข้อดีคือปกติจะมีการจัดเก็บเป็นประจำอยู่แล้วเช่นหักบัญชีหรือบัตรเครดิตเพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้อย่างสะดวกรวดเร็วสำหรับการเยียวยาฉุกเฉินโดยไม่ต้องติดขัดกับประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีในประเทศไทย

   

    ข้อชวนคิด:

  • ตามข้อเสนอนี้ ประชาชนจะไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าเมื่อไรจะต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟหรือค่าโทรศัพท์เป็นจำนวนเงินเท่าไรและจะกระทบกระเทือนต่อผู้มีรายได้น้อยที่บังเอิญไม่ประสบภัย
  • ประเด็นการเก็บเงินครัวเรือนที่ไม่ถูกภัยพิบัติ สะท้อนว่าในบางครั้ง แม้ต้นเหตุของภัยพิบัติจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่แนวทางที่ใช้เลือกเพื่อแก้ปัญหาเป็นเรื่องของการจัดการ ทำให้บางครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบอาจไม่ได้เกิดจากเหตุธรรมชาติสุดวิสัย แต่กลับเป็นเรื่องในวิสัยที่จะจัดการได้ เช่นเมื่อไรจะให้น้ำผันไปทางใด ตามการตัดสินใจที่รัฐพิจารณาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้อย่างหนีไม่พ้น คำถามคือ การจ่ายเงินเป็นทางออกที่เยียวยาผู้เสียหายได้หรือไม่ อย่างไร
  • เพื่อให้ตอบวัตถุประสงค์ในการหาเงินเร่งด่วนเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยจำนวนมาก ยังมีวิธีการหาเงินจากแหล่งอื่นวิธีใดอีกบ้าง?