ร่างพ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ ฉบับ สคส. หวังแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม-แท้งไม่ปลอดภัย

ร่างพ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ ฉบับ สคส. หวังแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม-แท้งไม่ปลอดภัย

เมื่อ 9 ต.ค. 2556

หลักการ

ไฟล์แนบขนาดไฟล์
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. ... (ฉบับ สคส. เผยแพร่เมื่อกันยายน 2556)424.05 KB
“อนามัยเจริญพันธุ์” แปลมาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Reproductive Health (RH) ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยแบบง่ายๆ ตามนิยามของ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คือ “ความพร้อมที่จะมีลูก” นั่นเอง
 
เรื่อง “อนามัยเจริญพันธุ์” ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น แต่มีแง่มุมด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับหญิงที่จะมีบุตรด้วย
 
ปัญหาการ “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ หรือ “ทำแท้ง” ที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกตามหลักวิชาชีพแพทย์ และไม่ปลอดภัย นำไปสู่การทอดทิ้งและทำร้ายทารกแรกคลอด การต้องออกจากสถาบันการศึกษาก่อนกำหนด โดยปัญหาเหล่านี้ป้องกันและแก้ไขได้ยากเพราะเรื่องเพศในสังคมไทยสัมพันธ์กับวัฒนธรรมความเชื่อบางประการ
 
ประชาชนกลุ่มหนึ่ง นำโดย มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาวะผู้หญิง (สคส.) จึงจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. ...” ขึ้นเพื่อเตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 คนเสนอกฎหมาย โดยมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
 
“ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. ...” มีหลักการน่าสนใจ ดังนี้
  • คนทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงบริการคุมกำเนิด การดูแลครรภ์ การคลอด การยุติการตั้งครรภ์ ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมทั้งการรักษาการมีบุตรยาก และโรคเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ต่างๆ (มาตรา 7)
  • คนทุกคนมีสิทธิตัดสินใจเลือกเองว่าจะมีชีวิตคู่ หรือไม่ และมีสิทธิตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ จำนวนเท่าใด (คู่สมรส พ่อแม่ หรือบุคคลใดจะบังคับเรื่องการมีชีวิตคู่และการมีบุตรไม่ได้) (มาตรา 8)
  • คนทุกคนมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เด็กและเยาวชนมีสิทธิได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้องและเพียงพอ (มาตรา 9)
  • คนทุกคนมีสิทธิที่จะปลอดภัยจากอันตรายจากขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับอนามัยการเจริญพันธุ์ (จะบังคับแต่งงาน หรือบังคับการมีเพศสัมพันธ์ หรือห้ามการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเหตุผลทางความเชื่อ ศาสนา หรือประเพณีไม่ได้) (มาตรา 10)
  • ห้ามไม่ให้โน้มนาว ข่มขู่ บังคับ อันส่งผลให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์พักการเรียน หรือต้องออกจากสถานศึกษา (มาตรา 15)
  • ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ปฏิเสธการจ้างงานเพราะเหตุตั้งครรภ์ (มาตรา 18)
  • รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน ให้มีสิทธิเลือกเพศตนเองและสิทธิในการเลือกวิธีการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • รัฐมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
    • ต้องจัดให้มีบริการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลทุกช่างวัยอย่างเหมาะสม (มาตรา 11)
    • ต้องจัดให้มีบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศที่มีมาตรฐาน (มาตรา 12)
    • ต้องจัดให้มีระบบการศึกษาต่อเนื่องที่เหมาะสมกับนักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ (มาตรา 15)
    • ต้องคุ้มครองสิทธิของคนที่มีเพศไม่ชัดเจน ต้องให้สิทธิตัดสินใจเลือกเพศได้ด้วยตนเอง และสิทธิในการเลือกวิธีการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา 23)
    • ฯลฯ 
ขณะนี้ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. ...” กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2556 
 
สามารถดาวน์โหลดสมุดแสดงความคิดเห็นเพื่อดูรายละเอียดร่างกฎหมายนี้และกรอกความคิดเห็นได้ตามไฟล์แนบ หรือทางออนไลน์ที่ http://thairhbill.wordpress.com

หรือพิมพ์สมุดรับความเห็น แล้วกรอกความเห็น ส่งไปยัง 

"มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง
12/22 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900"

 
ความเป็นมา: 

สิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ

แจกแจงสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ทั้งแง่สิทธิในการเลือก สิทธิในการเข้าถึงความปลอดภัยในการรักษา สิทธิในการเข้าถึงบริการการรักษา และสิทธิในข้อมูลส่วนตัว

อ่านต่อ

หน้าที่ของรัฐด้านอนามัยเจริญพันธุ์

หน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิและจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์

อ่านต่อ

คณะกรรมการ คสอพ. ที่มาและอำนาจหน้าที่

เสนอให้ตั้ง“คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ” เรียกโดยย่อว่า “คสอพ.” ดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี ทำหน้าที่ ออกนโยบาย รับคำร้อง ศึกษาวิจัย

อ่านต่อ

บทกำหนดโทษและการเยียวยาผู้เสียหาย

ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดโทษโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และให้คณะกรรมการมีกลไกเยียวยาผู้เสียหาย

อ่านต่อ

บทเฉพาะกาล

กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติซึ่งแต่งตั้งเมื่อปี ๒๕๕๒ ทำหน้าที่ คสอพ. จนกว่า คสอพ. ที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ 
อ่านต่อ
0