มาตรา ๔
บุคคลย่อมมีสิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศอย่างเสมอภาคโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของ บุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม
มาตรา ๕
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเสรีภาพและความปลอดภัยด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
มาตรา ๖
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในข้อมูลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศส่วนบุคคล
มาตรา ๗
บุคคลย่อมมีสิทธิเข้าถึงบริการเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ อันประกอบไปด้วย การคุมกำเนิดที่ปลอดภัย การดูแลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดที่ปลอดภัยการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย การรักษาภาวะการมีบุตรยาก การป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์และการเจริญพันธุ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์และเอชไอวี การดูแลรักษาเกี่ยวกับการแปลงเพศ
มาตรา ๘
บุคคลย่อมมีสิทธิตัดสินใจอย่างอิสระในการมีหรือไม่มีชีวิตคู่ อันประกอบด้วย การอยู่เป็นโสด การเลือกคู่ และมีสิทธิตัดสินใจอย่างอิสระในการสร้างครอบครัว อันประกอบด้วย การมีหรือไม่มีบุตร จำนวนบุตร การเว้นระยะห่างของการมีบุตร การรับบุตรบุญธรรม
มาตรา ๙
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและการศึกษาเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และเพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยตนเอง เด็กและเยาวชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและการศึกษาเกี่ยวกับเพศศึกษา อนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และเพียงพอเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
มาตรา ๑๐
บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะปลอดภัยจากอันตรายทั้งร่างกาย จิตใจ สุขภาพ หรือผลกระทบอื่นใด อันเนื่องจากขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีหรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ