มาตรา ๒๔
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ” เรียกโดยย่อว่า “คสอพ.” ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง
(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง
(๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองประธานกรรมการ คนที่สาม
(๕) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(๖) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ ด้านละ ๑ คน เป็นกรรมการ
(๗) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนจากเครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายผู้สูงอายุ โดยให้แต่ละเครือข่ายคัดเลือกกันเอง เครือข่ายละ ๑ คน เป็นกรรมการ
(๘) เลขาธิการสำนักงาน คสอพ. เป็นกรรมการและเลขานุการ
(๙) รองเลขาธิการสำนักงาน คสพอ. เป็นกรรมการและรองเลขานุการ
เมื่อได้รายชื่อ คสอพ. แล้ว ให้กรรมการสรรหาเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๕
ในการคัดเลือกกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๖) (๗) ให้กรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกกรรมการผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ โดยเป็นผู้หญิงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
มาตรา ๒๖
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๖) (๗) ให้เป็นไปตามนายกรัฐมนตรีประกาศและกำหนด
มาตรา ๒๗
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ นายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๒๘
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) นายกรัฐมนตรีให้ออกเพราะไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๒๙
การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม และต้องจัดการประชุมอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง
ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนที่หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการคนที่หนึ่งไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนที่สองเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการคนที่สองไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนที่สามเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการทั้งสามคน ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๐
คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย มาตรการ กลไก และแผนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศในทุกหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น
(๒) เสนอแนะนโยบาย และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) กำหนดแนวทางการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิ การบรรเทาทุกข์ หรือชดเชยแก่ผู้เสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกละเมิดสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
(๕) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
(๖) ตรวจสอบ แนะนำ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชน ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(๗) กำหนดนโยบายการบริหารงานและให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานแผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสำนักงาน
(๘) ออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การรักษาการและการปฏิบัติการแทน การกำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน สวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานและการดำเนินการอื่นของสำนักงาน
(๙) เสนอรายงานการประเมินผลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ คสอพ.หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา ๓๑
คสอพ. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
การประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๒๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๒
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คสอพ. หรือคณะอนุกรรมการอาจเชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย ความเห็น หรือคำแนะนำได้ตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๓๓
ในการได้มาซึ่งกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๖) (๗) ต้องมีกรรมการสรรหาที่มาจากผู้ที่มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
ให้มีกรรมการสรรหาตามมาตรา ๒๔ (๖) (๗) จำนวน ๑๓ คน ประกอบด้วย
(๑) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(๒) ผู้แทนคณาจารย์ประจำสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ซึ่งมีการสอนในสาขาวิชาสตรีศึกษา สิทธิมนุษยชน อนามัยการเจริญพันธุ์ ประชากรศาสตร์สังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ โดยคัดเลือกกันเองจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ๒ คน และเอกชน ๒ คน
(๓) ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลซึ่งไม่แสวงหากำไรและดำเนินงานด้านส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศมาไม่น้อยกว่า ๕ ปี คัดเลือกกันเองจำนวน ๔ คน
กรรมการสรรหา คสอพ. ไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็น คสอพ. เมื่อได้ชื่อกรรมการ คสอพ.แล้ว ให้กรรมการสรรหาเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓๔
ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
ให้สำนักงานมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี
มาตรา ๓๕
ให้สำนักงาน คสอพ. รับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของ คสอพ. โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับคำร้องการละเมิดสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศและรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความเห็นเสนอ คสอพ.
(๒) ตรวจสอบคำร้อง รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่ คสอพ. มอบหมาย
(๓) สนับสนุนให้มีการรวบรวม ศึกษาวิจัย วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ เพื่อประโยชน์ในการการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) ประสานความร่วมมือกับบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน เพื่อสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ และรณรงค์เผยแพร่ให้เกิดการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ คสอพ. มอบหมาย
มาตรา ๓๖
ให้มีเลขาธิการคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อ คสอพ. มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งงานของสำนักงาน และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างในสำนักงาน โดยอาจมีรองเลขาธิการตามจำนวนที่ คสอพ. กำหนดเป็นผู้ช่วยและปฏิบัติงานตามที่เลขาธิการมอบหมายก็ได้
คุณสมบัติหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเลขาธิการและรองเลขาธิการ ให้เป็นไปตามที่ คสอพ. กำหนด
ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเลขาธิการจากบุคคลที่ คสอพ. คัดเลือก ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ คสอพ.
เลขาธิการมีอำนาจแต่งตั้งรองเลขาธิการโดยความเห็นชอบของ คสอพ.
มาตรา ๓๗
ให้เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้ เมื่อเลขาธิการพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้รองเลขาธิการพ้นจากตำแหน่งด้วย
เมื่อตำแหน่งเลขาธิการว่างลงและยังไม่มีการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่ ให้ คสอพ. แต่งตั้งผู้รักษาการเลขาธิการ คสอพ.
ในกรณีที่เลขาธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองเลขาธิการที่ คสอพ. กำหนดเป็นผู้รักษาการแทน แต่ถ้าไม่มีรองเลขาธิการหรือรองเลขาธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ คสอพ. แต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน
มาตรา ๓๘
เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย มติ ข้อบังคับ ระเบียบหรือประกาศของ คสอพ.
(๒) จัดทำแผนงานหลัก แผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสำนักงานเสนอ คสอพ. เพื่ออนุมัติ
(๓) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การงบประมาณและการบริหารด้านอื่นของสำนักงาน ตามระเบียบที่ คสอพ. กำหนด
(๔) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย นโยบาย มติ ข้อบังคับ ระเบียบหรือประกาศของ คสอพ.
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ คสอพ. มอบหมาย
มาตรา ๓๙
เงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการให้ คสอพ.กำหนด
มาตรา ๔๐
ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงานในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก แต่เลขาธิการจะมอบหมายให้บุคคลใดปฏิบัติงานในเรื่องใดแทนตามระเบียบที่ คสอพ. กำหนดก็ได้
มาตรา ๔๑
ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลและจัดสรรงบประมาณรายปีแก่สำนักงาน คสอพ.