พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ 2550 | ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ สพธอ. (3 เมษายน 2556) |
---|---|
มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน | มาตรา ... ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งทั้งหมดหรือบางส่วน ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริงและทำให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
|
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน (๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา | มาตรา ... ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ... ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษ............. (กำหนดโดยระบุอัตราโทษขั้นต่ำ เพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษหนัก-เบาได้ตามความเหมาะสม) |
มาตรา 14 ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน เป็นมาตราที่ถูกใช้เอาผิดคนมากที่สุด ซึ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิดในเชิงเนื้อหา เช่น การโพสต์ข้อมูลหมิ่นประมาทคนอื่น การหลอกลวงกันในอินเทอร์เน็ต หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นต้น
ผู้ร่างกฎหมายชี้แจงว่า แท้จริงแล้วมาตรา 14 (1) ไม่ได้เขียนไว้เพื่อใช้กับกรณีหมิ่นประมาท เพราะการหมิ่นประมาทสามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญาได้ แต่มาตรา 14 (1) ที่พูดถึงข้อมูลปลอมนั้นตั้งใจจะให้ใช้กับกรณีการฟิชชิ่ง (Phishing) แต่ตลอด 5-6 ปีที่ใช้กฎหมายมาปรากฏว่ามาตรานี้ถูกตีความผิดมากที่สุด และถูกนำไปใช้ฟ้องร้องกันแทนกฎหมายหมิ่นประมาท ดังนั้นเจตนารมณ์ของการแก้ไขครั้งนี้จึงพยายามปรับถ้อยคำให้ใช้กับกรณีฟิชชิ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ลดโทษลงจากโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี
อย่างไรก็ดี มาตรา 14 (2) และ (3) เดิมที่เป็นเรื่องเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงนั้น ยังคงอยู่ในร่างฉบับใหม่ โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงอัตราโทษ มาใช้วิธีกำหนดโทษขั้นต่ำสุดแทนการกำหนดโทษขั้นสูงสุด โดยในเอกสารของสพธอ.เขียนกำกับไว้ว่า อาจเปลี่ยนมาใช้วิธีกำหนดโทษขั้นต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษหนักเบา
ต่อประเด็นนี้ มีข้อสังเกตว่า ตามหลักการเขียนอัตราโทษในกฎหมาย เพื่อเปิดให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาความหนักเบาแห่งการกระทำผิดได้นั้น ต้องใช้วิธีการกำหนดโทษขั้นสูงสุด (เช่น กำหนดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน xx ปี) ไม่ใช่การกำหนดโทษขั้นต่ำ (เช่น กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ x – xx ปี) เพราะการกำหนดโทษขั้นต่ำจะทำให้ศาลไม่สามารถพิจารณาลงโทษอย่างเบาที่สุดสำหรับกรณีที่เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้