พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ 2550 | ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ สพธอ. (3 เมษายน 2556) |
---|---|
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอานาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
| มาตรา ... ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น จนกว่าพฤติการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป |
มาตราที่ว่าด้วยการบล็อคเว็บ ได้แก้ไขจากเดิมที่ให้บล็อคเว็บเฉพาะที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (อันได้แก่ เรื่องลามก ความมั่นคง ข้อมูลปลอม) ร่างใหม่นี้ขยายประเด็นให้รวมถึงความผิดใน “กฎหมายอื่นๆ” ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือได้ด้วย เช่น หากมีเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและยา พบเห็นการโพสต์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่จำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย ก็ร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ดังกล่าวได้
กล่าวคือ ร่างกฎหมายนี้ครอบคลุมการกระทำความผิดทั้งที่เป็นการกระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง และการกระทำความผิดโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดความผิดอันเป็นเหตุแห่งการบล็อคเว็บไว้ในกฎหมายฉบับนี้ทุกกรณี
ทั้งนี้ ร่างมาตรานี้แก้ไขปัญหาการบล็อคเว็บตามกฎหมายปัจจุบัน ที่เมื่อมีการบล็อคเว็บแล้วคือบล็อคถาวร ไม่มีช่องทางให้เพิกถอนคำสั่งการบล็อคเว็บได้ ร่างฉบับนี้เพิ่มถ้อยคำว่า ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ "จนกว่าพฤติการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป"
สำหรับปัญหาเรื่องกระบวนการขออำนาจศาลที่มีการวิจารณ์กันว่า กลไกของศาลไม่ได้ตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างแท้จริง แต่เป็นเหมือนตรายางที่สร้างความชอบธรรมให้การใช้อำนาจมากกว่า ในร่างกฎหมายยังไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยระบุว่าเป็นรายละเอียดที่ต้องกำหนดเพิ่มเติมในภายหลัง
อย่างไรก็ดี การบล็อคเว็บ คือการปิดกั้นเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง หากกฎหมายเปิดช่องไว้กว้างเกินไปอาจทำให้สิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย คณะผู้ร่างควรตระหนักว่า ในโลกสมัยใหม่การปิดกั้นเว็บไซต์ไม่สามารถปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนได้อย่างแท้จริง แทนที่จะให้อำนาจบล็อคเว็บอย่างกว้าง ควรกำหนดประเด็นที่จะยอมให้ปิดกั้นเว็บไซต์ได้ให้เฉพาะเจาะจงมากกว่า เช่น กรณีที่ข้อมูลนั้นละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น