มาตรา 15 - 24 เป็นเรื่องคณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้
มาตรา ๑๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการคุ้มครอง อนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กอช.” ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ
(๒) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง
(๓) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง
(๔) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน ๑๒ คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวง มหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัด กรุงเทพมหานคร ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานราชวิทยาลัยกุมาร แพทย์แห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการ สุขภาพแห่งชาติ และนายกสภาการพยาบาล ๗
(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์สองคน ด้านพัฒนาสตรีและครอบครัวสองคน ด้านกฎหมาย ด้านสังคมศาสตร์ ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านการศึกษาด้านละหนึ่งคน ผู้แทน องค์กรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ สองคน ผู้แทนผู้สูงอายุหนึ่งคน ผู้แทนนายจ้างหนึ่งคน ผู้แทนเยาวชนหนึ่งคน และผู้แทนแรงงาน สตรีหนึ่งคน
ให้อธิบดีกรมอนามัยเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมอนามัย แต่งตั้งข้าราชการในกรมอนามัยไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งภาคการเมือง ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เห็นพ้องกันว่า ประธานกรรมการ ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เจ้ากระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพราะว่าเรื่องสิทธิทางเพศและการอนามัยเจริญพันธุ์ มีความคาบเกี่ยวกับบทบาทของหลายกระทรวง
ภาควิชาการเสนอให้พิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการ ซึ่งมีทั้งคณะกรรมการโดยตำแหน่ง และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่แต่งตั้งมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ว่าควรลดจำนวนของคณะกรรมการลง เพราะหากมีจำนวนสูงมาก จะทำให้นัดประชุมไม่ได้ ขณะเดียวกัน เสนอให้เพิ่มตัวแทนขององค์กรศาสนา และผู้เชี่ยวชาญด้านยา เข้ามาเป็นกรรมการด้วย
ภาคการเมือง เสนอว่า ควรเพิ่มตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาเป็นกรรมการ เพราะมีคดีเกี่ยวข้องกับเรื่องการอนามัยเจริญพันธุ์ และเสนอให้เพิ่มตัวแทนจากสภาทนายความ คณะกรรมการจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษาผู้แทนครู และสื่อมวลชน ด้วย โดยให้คำนึงถึงสัดส่วนชายและหญิงให้เท่าเทียมกัน
ภาคประชาสังคมเห็นว่า ควรเพิ่มกรรมการที่มาจากกระทรวงแรงงานผู้แทนองค์กรความหลากหลายทางเพศตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน และหากเพิ่มสื่อมวลชนแล้ว ก็ควรให้มีสัดส่วนจากสื่อภาคประชาชนด้วย และโดยรวมแล้ว ให้มีจำนวนที่สมดุลกันระหว่างภาครัฐ ประชาสังคม และวิชาการ
ทั้งภาคการเมืองและภาคประชาสังคมเสนอให้ที่มาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ควรมาจากกระบวนการสรรหา มากกว่าการแต่งตั้ง ซึ่งเสนอให้ใช้ระบบการสรรหาแบบเดียวกับที่ใช้ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
มาตรา ๑๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทน ตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามวรรคสอง หากวาระที่ เหลืออยู่นั้นไม่ถึงเก้าสิบวัน รัฐมนตรีจะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนก็ได้
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อ ดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ทั้งสามภาคส่วน เสนอให้เพิ่มระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ จาก 3ปี เป็น 4ปี และให้เพิ่มจำนวนครั้งของการประชุม จากเดิมที่ประชุมปีละ 2ครั้งมาเป็นปีละ 3ครั้ง เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
มาตรา ๑๘ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการส่งเสริม การคุ้มครองสิทธิและการพัฒนาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
(๒) จัดทำแผนงานหลัก และมาตรการ การส่งเสริม การคุ้มครองสิทธิและ การพัฒนาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ตลอดจนให้ความเห็นชอบหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอน เพศศึกษาในสถานศึกษา
(๓) ให้คำปรึกษา แนะนำ ส่งเสริม พัฒนา ประสานงาน และติดตามประเมินผล การดำเนินงานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
(๔) กำหนดแนวทางและกำกับดูแลการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ตลอดจนการให้ความร่วมมือและประสานงานกับต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการส่งเสริม การคุ้มครองสิทธิและการพัฒนาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ และการพัฒนา ประชากรของประเทศ
(๕) กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ วิธีการหรือวางระเบียบเกี่ยวกับการให้การ ปรึกษาและการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของสถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งการลา คลอดและการส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมมารดาอย่างต่อเนื่อง ในหน่วยงานของรัฐหรือ ภาคเอกชน
(๖) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและ การพัฒนาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
(๗) สั่งการและกำกับดูแลให้มีการศึกษาวิจัยและจัดทำข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม การคุ้มครองสิทธิ และการพัฒนาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
(๘) ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและการพัฒนาด้านอนามัย การเจริญพันธุ์ตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำ นาจหน้าที่ของ คณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
เรื่องอำนาจหน้าที่นั้น ภาคประชาสังคมและภาคการเมืองเห็นว่าควรตัดอำนาจหน้าที่ ที่ให้เห็นชอบในหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนออก เพราะซ้ำซ้อนกับอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา และภาคประชาสังคม มีการเสนอให้เพิ่มบทบาทในการเฝ้าระวังสื่อ ไม่ให้สร้างทัศนคติที่ไม่ดีและละเมิดสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
มาตรา ๒๑ ให้กรมอนามัยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติงานธุรการและการบริหารงานทั่วไปของคณะกรรมการ
(๒) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม การคุ้มครองสิทธิและการพัฒนาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
(๓) จัดให้มีการรวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งจัดให้มีการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม การคุ้มครองสิทธิและการพัฒนา งานอนามัยการเจริญพันธุ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) จัดให้มีข้อมูลสารสนเทศและการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการให้การปรึกษา และการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในหน่วยงานของรัฐ สถานบริการสาธารณสุข และภาคเอกชน
(๕) ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานหลัก เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ
(๖) เก็บรักษาทะเบียนใบอนุญาตของสถานบริการสาธารณสุขที่ให้บริการและ การปรึกษาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และเพศศึกษา
(๗) ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ภาคประชาสังคมเสนอให้ปรับแก้ในมาตรา 21 โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ จากเดิมที่กำหนดให้เป็นงานของกรมอนามัยเป็นสำนักงานเลขานุการ นอกจากนี้ บทบาทของสำนักเลขาฯ ที่เป็นศูนย์กลางประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ภาควิชาการเสนอให้เพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ารวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน และเสนอให้ตัด (6) เรื่องการขึ้นทะเบียนใบอนุญาตของหน่วยบริการ
Comments
ไม่ต้องถึงนายกฯ หรอก